ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯ มือเสือ

ผลจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 55/2559 ดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น

ทำให้คดีความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 และคดีขัดคำสั่งคสช.

จากเดิมให้ขึ้นศาลทหารต้องเปลี่ยนมาขึ้นศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนแทน

ยกเว้นคดีเดิมที่อยู่ในศาลทหารอยู่แล้วก็ต้องอยู่ต่อไป ไม่สามารถโอนมาศาลพลเรือนได้ เพราะเดี๋ยวยุ่ง เนื่องจากบางคดีมีการสืบพยานไปมากแล้ว

รวมถึงคดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่กฎอัยการศึกด้วยเช่นกัน

ส่วนอำนาจการจับกุมในคำสั่งใหม่ ยังเป็นของเจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจเหมือนเดิม

แต่ขั้นตอนเปลี่ยนไป คือของเดิม จับแล้วส่งไปอัยการทหาร แล้วส่งต่อไปยังศาลทหาร แต่ในคำสั่งที่เพิ่งออกมา ทหารจับแล้วต้องส่งไปที่อัยการและศาลพลเรือน

ถามว่าคำสั่งนี้ช่วยผ่อนปรนบรรยากาศบ้านเมืองให้คลายความอึดอัดตึงเครียดลงได้หรือไม่

คำตอบคือช่วยได้บ้าง

เพราะจุดที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ อยู่ในช่วงหลังการรัฐประหารของคสช.ใหม่ๆ และอีกช่วงคือก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม

ตอนนั้นกลุ่มประชาชนพลเรือนที่เคลื่อนไหวต่อต้านและเห็นต่างจากรัฐบาลคสช. มักถูกเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจจับกุมส่งฟ้องดำเนินคดีต่อศาลทหาร เป็นคดีค้างถึงปัจจุบัน

นานมาแล้วที่นานาชาติและประชาคมโลก ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมนำพลเรือนดำเนินคดีในศาลทหาร แต่ก็ได้รับการเพิกเฉย

ล่าสุดนายบัน คีมุน เลขาฯยูเอ็นที่นั่งจับเข่าคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่สปป.ลาว ยังคงแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

บวกกับการที่ผู้นำไทยมีคิวต้องเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น สมัยสามัญครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ ช่วงวันที่ 18-24 กันยายนนี้

จึงน่าจะเป็นที่มาของคำสั่งดังกล่าว

เพื่อมุ่งหวังลดแรงกดดันจากภายนอก

ทั้งน่าสังเกตว่า ภายใต้อำนาจมาตรา 44 เมื่อยกเลิกมาตรการศาลทหารได้

จะนำกลับมาใช้อีกเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน