คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับท่าทีประชาชนที่มีต่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เนื่องจากมีคนลงชื่อไม่เห็นด้วยในเว็บไซต์ www.change.org เพื่อขอให้สนช.ทบทวนกว่า 3 แสนคน

โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายการคุกคามสิทธิเสรีภาพ และจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้การ ใช้งานอินเตอร์เน็ตไม่มีความเป็นส่วนตัว และไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

อาทิ การเพิ่มฐานความผิด “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน” หรือการโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ “การบริการสาธารณะ” ซึ่งกำกวม ไม่ชัดเจน เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้าง ทำให้ไม่มั่นใจในความยุติธรรม

ระบุให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ระงับหรือลบข้อมูลภายใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นต้องรับโทษเท่าผู้โพสต์ โดยที่ไม่ต้องตรวจสอบโดยศาล เท่ากับเปิดช่องให้ปิดเว็บไซต์ต่างๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้อำนาจศาล

ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส เท่ากับว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่เป็นความลับ และอาจตกอยู่ในอันตรายได้

ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บล็อกเว็บไซต์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถระงับและลบข้อมูลได้ทันที โดยไม่มีหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจเหล่านี้อย่างเป็นธรรม

เปิดให้มีกบว.ออนไลน์ จากคณะกรรมการ 5 คน ซึ่งเป็นใครไม่รู้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล แต่สามารถปิดเว็บไซต์ ที่อ้างว่าผิดศีลธรรม แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ตามที

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อกังวลของประชาชน

อย่างไรก็ตามหากดูท่าทีของรัฐบาล ก็คงจะหวังไม่ได้มากสักเท่าใด ด้วยความที่เป็นรัฐบาลทหาร มาจากการรัฐประหาร

การมีส่วนร่วม หรือฟังเสียงประชาชนย่อมน้อยอยู่แล้ว

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่าทำไมถึงต้องพร่ำบอกว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ

เพราะหากกรณีนี้เกิดขึ้นในยุคอื่น การต่อต้านคัดค้าน แสดงความเห็นถกเถียงกันอย่างมีอารยะย่อมเกิดขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้คงได้แต่ทำใจ

เว้นแต่จะมีการแสดงออกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน