คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จุดพลุประเด็นปรองดองขึ้นในสังคม

โดยมีแนวทางเพื่อให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลดความขัดแย้ง ถึงขั้นเซ็น เอ็มโอยูให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง

พร้อมประกาศชัดเจนว่า คสช.ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งมาเมื่อปี 2557 บริหารประเทศมาเกือบ 3 ปีนี้ เป็นกลาง ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร

พร้อมใช้ม.44 ตั้งคณะกรรมการชื่อยาวเหยียด ที่มีชื่อย่อว่า ป.ย.ป.

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เสนอรายชื่อทหารชุดใหญ่ให้นั่งเป็นกรรมการอำนวยการเพื่อความสมานฉันท์

ทำให้ต้องกลับไปตั้งคำถามว่าในความเห็นของคสช. และนายกฯแล้วความปรองดองนี่คืออะไรกันแน่

แน่นอนว่าความปรองดองเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการอย่างยิ่ง

แต่เส้นทางที่ได้มาก็ต้องถูกต้องชอบธรรม และได้รับความยินยอมพร้อมใจจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ

หากให้เกิดขึ้นด้วยการบังคับแข็งขืน จะยิ่งเป็นการตอกย้ำวิกฤตให้มากขึ้นไปอีก

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับความปรองดอง ก็คือความยุติธรรม

ต่อจากนี้ จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาล และคสช. หรือกรรมการชุดไหนก็ตามสามารถสร้างความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ได้หรือไม่

ความยุติธรรม ที่ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งแสดงออกโดยสันติวิธี โพสต์เฟซบุ๊ก หรือแม้จะยืนเฉยๆ ก็ถูกจับกุมคุมขัง ดำเนินคดี

แต่อีกฝ่ายปิดบ้านปิดเมือง สร้างมิคสัญญี มีความผิดฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่คดีกลับไม่คืบหน้า

ฝ่ายหนึ่งดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนอย่างโครงการรับจำนำข้าว กลับถูกกล่าวหาว่าทุจริต

อีกฝ่ายถูกร้องเรียนทุจริตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันราคาข้าว ก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง แต่คดีก็ไม่มีความเคลื่อนไหว

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ต้องดำเนินการให้กระจ่าง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่ากันไปตามถูก

ไม่ให้เกิดภาวะบ้านเมือง 2 มาตรฐาน อันเป็นสิ่งที่ตอกย้ำรอยร้าวในประเทศให้เกิดขึ้น

ย้ำกันอีกครั้งว่าทำได้หรือไม่

หากจะปรองดอง ต้องยุติธรรมก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน