คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับเรื่องการปรองดอง ที่รัฐบาลประกาศขึ้นมา

โดยมีโจทย์ให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับกติกา ไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมอีก เหมือนอย่างที่เคยเป็นในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

อาทิ การห้ามขัดขวางการเลือกตั้ง และยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

โดยต้องการให้ทุกฝ่ายลงนามเป็นข้อตกลงร่วมกันหรือเอ็มโอยู

แต่กระนั้นก็ปฏิเสธที่จะให้พันธสัญญาว่าจะไม่ทำปฏิวัติรัฐประหารอีก

สิ่งเหล่านี้เหมือนกับโจทย์ที่ยากจะให้เกิดความยอมรับ

ดังที่หลายฝ่ายให้ความเป็นห่วง และระบุไปแล้วว่าการปรองดอง ต้องมีความยุติธรรมมาเป็นที่ตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาได้ว่ามี 2 มาตรฐาน

ใครทำผิดก็ต้องรับโทษ ใครถูกกลั่นแกล้งก็ต้องเยียวยา

ชวนให้กลับมาคิดว่าการปรองดองครั้งนี้ มีแนวทางดังนั้นหรือไม่

เพราะคนทั่วไปเขาสงสัยว่า จะให้ปรองดองกันยังไง ในเมื่อคนบางคนที่ใช้สิทธิพื้นฐานที่มี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแสดงจุดยืนในที่สาธารณะ

ก็ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ แถมยังถูกห้ามประกันตัว

ขณะที่อีกฝ่าย แม้จะถูกข้อหาเป็นกบฏต่อบ้านเมือง ก็ยังเดินเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคม มีคนยืนกุมเป้าตั้งแถวรอรับเวลาเดินทางไปที่ไหน ให้ความเคารพอย่างหาที่สุดมิได้

ถ้าปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่ แล้วจะถามหาเรื่องปรองดองจากที่ไหน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าใครเล่า จะเป็นคนกลาง ที่จัดหารือพูดคุยเพื่อให้กระบวนการปรองดองดำเนินต่อไป

จะเป็นทหารที่ยืดอกปฏิวัติรัฐประหาร แล้วบริหารประเทศมาร่วม 3 ปี

ซึ่งก็เห็นกันอยู่ว่าผลงานที่ทำมามีอะไรกันบ้าง

จะมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ ก็ยิ่งน่าสงสัยติดตาม

ที่สำคัญคือความปรองดองที่ตั้งธงไว้ จะปรองดองระหว่างใครกับใคร

นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือกับประชาชน

คนจะได้รู้เท่าทัน และเตรียมตัวรับให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน