คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯ มือเสือ

การเมืองไทยหลังรัฐประหารของคสช. มาถึงก้าวประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้ง

ในการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเป็นทางการวันที่ 6 เมษายน 2560 ตรงกับวันจักรี

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของไทยในรอบ 85 ปี นับตั้งแต่ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6 เมษายน 2560 ยังเป็นวันเดียวกันกับการเริ่มต้นนับหนึ่ง “โรดแม็ปเลือกตั้ง” อย่างเป็นทางการ

จากนี้ไปคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายลูก” 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน

ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 2 เดือนบวกอีก 30 วัน จากนั้นส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย

โปรดเกล้าฯ ลงมามีผลบังคับใช้เมื่อใด ก็เป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไปดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน

จากขั้นตอนที่ว่ามา ได้รับการคำนวณไว้คร่าวๆ หากใช้เวลาเต็มที่ตามกำหนด

การเลือกตั้งจะตกอยู่ราวปลายปี 2561

แต่หากสามารถลดเวลาดำเนินการบางขั้นตอนลงได้ เช่น ขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายลูก ขั้นตอนพิจารณาของสนช. เป็นต้น ก็จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้น

คือในราวกลางปี 2561 หรืออาจเกินไปอีกนิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์โดยคำนวณจากวันเวลาตามปฏิทิน

ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่นหลายอย่างที่อาจทำให้ สิ่งต่างๆ ผิดเพี้ยนไป

เหมือนที่นักการเมืองรู้ซึ้งถึงในสัจธรรมการเมืองไทย

ความแน่นอนคือ ความไม่แน่นอน

โดยเฉพาะการผ่านรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ

เป็นเครื่องสะท้อนเสถียรภาพการเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน