คอลัมน์ทิ้งหมัดเข้ามุม โดย มันฯ มือเสือ

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา

เป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

ผ่านมา 1 สัปดาห์ มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ประชาชนและนักประชาธิปไตย ส่งตรงไปถึง รัฐบาลคสช. 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่

ให้ยกเลิกการใช้ “มาตรา 44” และ”ปลดล็อก”พรรคการเมือง

ดูแล้วยากที่รัฐบาลคสช.จะปฏิบัติตามทั้ง 2 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องแรก

ถึงแม้มาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังรับรองการใช้อำนาจมาตรา 44 ซึ่งถ่ายโอนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่สิ้นสภาพไป

แต่ก็มีเสียงท้วงติงจากนักวิชาการรัฐศาสตร์บางคนว่า การถ่ายโอนมาในลักษณะนี้

ทำให้อำนาจตามมาตรา 44 ของ นายกฯ และหัวหน้าคสช. “ซ้อน”อยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐบาลคสช.อ้างเหตุผลความจำเป็นหลายประการที่ต้องคงอำนาจมาตรา 44 ไว้

ขณะที่นายกฯ และหัวหน้าคสช.ยืนยันจะใช้มาตรา 44 เท่าที่จำเป็น

ไม่ล่วงเกินแทรกแซงกระบวน การยุติธรรม ไม่ใช้เพื่อเป็นโทษกับใคร แต่ใช้อย่างสร้างสรรค์

จะว่าไปก็เป็นคำยืนยันเดิมๆ เหมือนตอนมาตรา 44 ถือกำเนิดใหม่ๆ

ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ข้าราช การส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในสังคม ต่างก็ประจักษ์กับสายตาแล้วว่า มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ไปในทางใด

สร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน

เหมือนที่มีอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ท่านหนึ่งระบุว่า

การใช้อำนาจนั้นมีต้นทุน

ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งหมดเร็วเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน