คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

ถือเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษ

สำหรับกรณี น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือ ‘เปรี้ยว’ และพวกอีก 4 คน ก่อเหตุฆ่าหั่นศพ น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย หรือ น้องแอ๋ม

โดยมีสาเหตุจากความโกรธแค้นส่วนตัวเรื่องแฉแก๊งยาเสพติด จนอดีตสามีถูกจับกุม อีกทั้งปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ

เนื่องจากผู้ก่อเหตุลงมือด้วยความโหดเหี้ยม ซ้ำยังเป็นบุคคลที่โลดแล่นอยู่ในโลกโซเชี่ยล

หลังจากตกเป็นข่าว ก็ถูกขุดคุ้ยทุกชีวิตทุกแง่มุมออกมาตีแผ่ต่อสาธารณะ จนมี ผู้ติดตามกันเป็นจำนวนมาก

และน่าสนใจอย่างยิ่งที่ท่าทีของกระแสสังคม ล้วนไปในทิศทางที่ ‘พิพากษา’ การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาไปเรียบร้อยแล้ว

มีหลากหลายความเห็นที่เสนอให้ลงโทษ ด้วยวิธีการป่าเถื่อน

เรียกร้องด้วยการเอาความสะใจเป็นหลัก

จนบางครั้งอาจจะลืมไปว่ายังมีสิทธิของผู้ต้องหา ที่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมอีกหลายขั้นตอน

หากมองว่าเป็นเพราะสังคมไทยทนไม่ได้กับความโหดเหี้ยมทารุณ และเป็นสังคมที่เรียกร้องความยุติธรรม ก็อาจพูดไม่ได้เต็มปากนัก

เพราะหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่มีคนถูกฆ่าตายกลางเมืองนับร้อยศพ บาดเจ็บอีกหลายพัน ถูกจับกุมคุมขังร่วมร้อยคน

เหยื่อครั้งนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย อาสาพยาบาล เด็กน้อยอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร

หลายศพมีคำสั่งศาลว่ากระสุนมาจาก ฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใด

จนขณะนี้ผ่านมา 7 ปี ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แถมคนบางคนที่สั่งการ กลับลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม แถมยังมีคนนับหน้าถือตากันอีกเป็นจำนวนมาก

ภาระในการเรียกร้องความยุติธรรม จึงตกอยู่ที่บรรดาญาติผู้เสียชีวิต โดยที่กระแสสังคมกลับเงียบเชียบเฉยเมย

จึงน่าจะเป็นโอกาสที่กระตุ้นเตือนให้บรรดาคนที่ยึดมั่นความยุติธรรมได้ตระหนัก

เพราะไม่ว่าฆ่าคนตายศพเดียว หรือตายเป็นร้อยศพ

ก็ควรจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีใครลอยนวล

จริงไหม!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน