คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯมือเสือ

เข้าทำนองลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

กรณีหัวหน้าคสช.ใช้คำสั่งมาตรา 44 ออกข้อยกเว้นต่างๆ

เพื่อ “ปลดล็อก” โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หลังจาก 3 ปี เจรจากันมา 20 รอบ แต่ยังเริ่มเดินหน้าไม่ได้ สักที

ล่าสุด รัฐบาลได้เชิญสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทย มาพูดคุยทำความเข้าใจ ชี้ให้เห็นความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 กับโครงการดังกล่าว

แต่เรื่องไม่จบอยู่แค่นั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ชี้ให้เห็นว่า การใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นการแก้ปัญหาแค่ส่วนหนึ่ง

เนื่องจากปัญหาหลักแรกเริ่มเกิดจากการอนุมัติโครงการโดยไม่พร้อมและขาดรายละเอียด ทั้งการศึกษาความ เป็นไปในเชิงเศรษฐกิจ การเงิน การออกแบบ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

รวมถึงปัญหาทับซ้อนเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยา กับระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น

ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้รางร่วมกันได้หรือไม่

ไทยจึงเป็น 1 ประเทศ ที่มีรถไฟความเร็วสูง 2 ระบบ

ซึ่งการมี 2 ระบบ นอกจากจะมีต้นทุนสูงกว่าการมีระบบเดียว ยังทำให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเป็นไปอย่างยากลำบาก ยิ่งขึ้น

ยังไม่นับรวมปัญหา หากญี่ปุ่นเกิดคับข้องใจ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้กฎหมายพิเศษยกเว้นหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกโครงการในมาตรฐานเดียวกับจีนบ้าง

จะได้หรือไม่ได้

รัฐบาลไทยควรหาคำตอบเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

อย่าให้ทางญี่ปุ่นค่อนแคะได้ว่า นอกจากเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบรถไฟความเร็วสูง

ยังเป็นประเทศ 2 มาตรฐานในทุกๆ เรื่องอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน