คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯมือเสือ

ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำรุนแรง

แต่ดูเหมือนภาวะของกระทรวงกลาโหมจะเติบโตสวนทาง

โดยเฉพาะหากดูจากตัวเลขงบประมาณในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา จาก 115,024 ล้านบาท ในปี 2550 เพิ่มเป็น 211,649 ล้านบาท ในปี 2560 และ 222,436 ล้านบาท ในปี 2561

เรียกเป็นยุค “เฟื่องฟู” ของกองทัพก็คงไม่ผิด

ล่าสุดในการประชุมครม.วันที่ 11 ก.ค. รัฐบาลทหารยังได้ไฟเขียวโครงการ จัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบที-50ทีเอช จากเกาหลีใต้ จำนวน 8 เครื่อง ให้กับกองทัพอากาศ วงเงิน 8,800 ล้านบาท

เป็นการจัดหาต่อเนื่องระยะที่ 2 หลังจากอนุมัติดำเนินการเมื่อปี 2557 ไว้จำนวน 16 เครื่อง จัดหา 3 ระยะ ระยะ ที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง ระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง ระยะที่ 3 อีก 4 เครื่อง เพื่อนำมาทดแทนเครื่องเก่าที่ใช้งานมา 30 ปี

ย้อนไปก่อนหน้านี้ วันที่ 18 เม.ย. รัฐบาลทหารคสช.ได้ผ่านความเห็นชอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้กับกองทัพเรือ จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท

เป็นการเห็นชอบแบบเงียบๆ โดยอ้างเรื่องความเป็นเอกสาร “มุมแดง”

ต่อมาวันที่ 13 มิ.ย. รัฐบาลทหารคสช.ก็ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จำนวน 34 คัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้กับกองทัพบก วงเงิน 2,300 ล้านบาท

นั่นเท่ากับว่าภายใน 3 เดือน มีการอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ รถเกราะ และเครื่องบิน ให้กับทั้ง 3 เหล่าทัพ บก เรือ อากาศ อย่างครบถ้วน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 24,600 ล้านบาท

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทุกครั้งเป็นไปอย่าง “โปร่งใส”

แต่เนื่องจากสภาพความถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนยังมีความทุกข์ยากจากปัญหาปากท้อง และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

ดังนั้น ในเรื่องของความ “เหมาะสม” และ “จำเป็น”

ก็เป็นคำถามที่รัฐบาลสมควรต้องตอบให้ได้ด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน