คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน เป็นตัวแทนคณะผู้ริเริ่มยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อแจ้งว่าจะนำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้ 70,276 รายชื่อ ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามช่องทางมาตรา 256 ยื่นให้สภาตรวจสอบในวันที่ 22 ก.ย.นี้

นายจอน เปิดเผยว่า ไอลอว์รณรงค์เรื่องนี้โดยใช้เวลา 1 เดือน ได้รายชื่อประชาชน 7 หมื่นกว่ารายชื่อ หากรออีก 1 เดือน คาดว่าจะเกิน 1 แสนรายชื่อ แสดงให้เห็นถึงความต้องการของทั่วประเทศ ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย และร่างโดยประชาชนมีส่วนร่วม

ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ แกนนำกลุ่มไอลอว์ กล่าวว่า วันที่ 22 ก.ย.นี้ ที่สภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระขั้นรับหลักการนั้น จะนำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมไว้กว่า 7 หมื่นรายชื่อมายื่นที่รัฐสภาในช่วงเช้า

ในส่วนภาคประชาชนนั้น มีข้อเสนอเรียกว่า “รื้อ สร้าง ร่าง รัฐธรรมนูญ” คือ 5 ยกเลิก และ 5 แก้ไข คือ

สิ่งที่ต้องยกเลิก คือ ยกเลิกช่องทางที่ทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. ยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ ยกเลิกเขตปกครองแบบพิเศษที่เปิดช่องให้ผู้บริหารปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้และยกเลิกมาตรา 279 ประกาศคำสั่งใดๆของคสช. และการปฏิบัติการในช่วง คสช.ไม่มีความผิด เอาโทษกับคนเหล่านี้ไม่ได้

ส่วนสิ่งที่ต้องแก้ไข ได้แก่ เปลี่ยนระบบบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเท่านั้น เสนอแก้ไขสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญ2540 เปลี่ยนที่มาองค์กรอิสระโดยสร้างระบบสรรหาคณะกรรมการใหม่

นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 256 เพื่อให้ใช้เสียงเพียงครึ่งหนึ่งของสภาในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องมีเสียงของ ส.ว.และไม่ต้องทำประชามติ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 200คน ที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อรื้อและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เป็นอีกช่องทางที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน