คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

สัญญาณการส่งออกสินค้าไทยในต่างประเทศเริ่มกลับมามีความหวัง หลังติดลบตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการส่งออกของไทยช่วงเดือนส.ค.2563 พบว่าโดยรวมอยู่ที่ 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.94%

ยอดส่งออกตลอด 8 เดือน ตั้งแต่ม.ค.-ส.ค.2563 อยู่ที่ 153,374.8 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.75%

ยังได้ดุลการค้าเดือนส.ค.2563 อยู่ที่ 4,349.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอด รายได้ 8 เดือนอยู่ที่ 18,393.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การส่งออกในช่วงเดือนส.ค.2563 จะติดลบ 7.94% แต่ถือว่าน้อยลง ขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวด้านการขนส่งสินค้า ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก คำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น

ทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค.แตะระดับเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในรอบ 5 เดือนของปี

หากการส่งออกยังเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปในช่วง 4 เดือนที่เหลือนี้ โอกาสจะติดลบอยู่ที่ 5-8% เท่านั้น

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดีมี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 599.6% ต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดอินเดีย เคนยา มาเลเซีย และเมียนมา หมูสดแช่แข็ง 962.1% ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดฮ่องกง ลาว และกัมพูชา อาหารสัตว์เลี้ยง 22.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และ เครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดีอยู่ เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าขยายตัว 31.3% ต่อเนื่อง 3 เดือนในตลาดสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เปรู อินโดนีเซีย และอียิปต์

สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เช่น ถุงมือยาง ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร โดยขยายตัว 125.9% ต่อเนื่อง 9 เดือนในตลาดสหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาคส่งออกและรัฐบาลจะร่วมกันเจาะตลาดได้ ขนาดไหน?

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน