คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ทางออกวิกฤตประเทศ – เป็นประเด็นคำถามที่เชื่อว่าทุกคนก็อยากได้คำตอบ

นั่นก็คือวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน หรือจะมีจุดจบอย่างไร

เมื่อเสียงของผู้ชุมนุมดังขึ้นเรื่อยๆ และยังยึดมั่นใน 3 ข้อเสนอหลักไม่ผ่อนปรน ไม่ลดเพดาน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเป็น 1 ในข้อเรียกร้องหลักให้ลาออกพ้นจากตำแหน่ง ที่แม้จะบอกให้ถอยคนละก้าว

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่เคยถอยไปจากจุดยืนเดิมเลยแม้แต่นิดเดียว

แม้จะพร่ำบอกว่าไม่ได้อยากมาอยู่ตรงนี้ ไม่อยากมีอำนาจ และไม่ยึดติดกับอำนาจ

แต่ก็ไม่ลาออก ไม่ยอมยุติบทบาท

จนกลายเป็นข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตัดสินใจอนาคตของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด

หรือมีอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถรู้ได้ มากำหนดพฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์เอาไว้

ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ถอย ม็อบเองก็ยึดมั่นจุดยืนเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น!??

ซึ่งก็คงจะประเมินและวิเคราะห์ได้ตามสถานการณ์ โดยฝ่ายรัฐบาลเองก็เชื่อว่าม็อบอาจจะอ่อนล้าไปเอง ด้วยความที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ เป็นนักเรียน-นักศึกษา ต้องมีภารกิจการเรียน การสอบ

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าสถานการณ์ยังยันกันอยู่ เพราะม็อบเองก็ไม่มีกำลัง และเดินตามเส้นทางของสันติวิธี

จะมีได้ก็คือการเพิ่มแรงกดดัน นัดชุมนุมแสดงพลัง ทำให้รัฐบาลต้องรับมือ ตั้งบังเกอร์ รั้วลวดหนาม ปิดถนน จนคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องเดือดร้อนไปด้วย

เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วก็ยิ่งทรุดไปอีก รัฐบาลอยู่ในสภาพเป็ดง่อย ทำงานอะไรไม่ได้

เมื่อทุกอย่างถาโถมเป็นแรงกดดันที่มากขึ้น ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกทางออกอย่างไร

จะอยู่ไปวันๆ แบบนี้ก็เหน็ดเหนื่อย

แต่ถ้าหน้ามืดตามัว ไปใช้อำนาจนอกระบบตามที่คนบางส่วนเชียร์ให้รัฐประหาร

ก็ต้องคิดให้จงหนักว่ารัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งปี 2549 และ 2557 มันแก้ปัญหาของประเทศได้จริงหรือไม่

ที่สำคัญต้องระลึกไว้แล้วว่าบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น

หากทำแล้วไม่สำเร็จ โทษฐานการเป็นกบฏ ก็รออยู่ตรงหน้า

คุ้มกับที่ต้องเสี่ยงหรือไม่ ต้องคิดดู!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน