คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

พระสงฆ์กับการเมือง – รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ กำหนดไม่ให้พระสงฆ์มีสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะรับสมัครเลือกตั้งและการใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทุกฉบับเช่นเดียวกับประชาชน

ช่วงชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีพระสงฆ์สามเณรบางรูปไปร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็น

ทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจับตาเขม็ง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ขัดเคือง สมาชิกรัฐสภาบางคนก็ฮึ่มฮั่ม

บางคนเคยบวชเป็นมหาบาเรียน อยู่วัดอยู่วามาก็นาน แต่ไม่ยักเข้าใจสังคมสงฆ์ว่ามีความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำอย่างไร

จะไล่จับสึก ถอดจีวรออกท่าเดียว

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงการเมืองกับพระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่แรก

แม้การปกครองคณะสงฆ์จะยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก แต่ก็มีจารีตปฏิบัติ และอนุวัตไปตามการปกครองบ้านเมือง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้นมาเพื่อการปกครองคณะสงฆ์อย่างเป็นแบบแผน

ด้วยสภาพการปกครองที่ให้สิทธิธรรมยุติกนิกายจนล้นเกิน จึงมีแรงต่อต้านจากฝ่ายมหานิกายอย่างกว้างขวาง

จนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงมีความเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

โดยกลุ่มพระสงฆ์ที่เรียกว่า “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ซึ่งเป็นกลุ่มยุวสงฆ์รุ่นแรกๆ

จนนำไปสู่การสถาปนาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่อนุวัตไปตามการปกครองบ้านเมือง

นับเป็นฉบับที่มีความก้าวหน้า ให้ความเสมอภาคระหว่างคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย

จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจึงยกเลิกและตราพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งมีลักษณะการปกครองแบบรวมศูนย์ขึ้นมาแทน มีองค์กรปกครองสูงสุดคือมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีการแก้และปรับปรุงหลายครั้ง

ล่าสุดแก้ไขโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังคสช.ยึดอำนาจ ที่ทำแบบ เร่งรีบ และรวบรัด

จนกลายเป็นความอึดอัดของ พระสงฆ์-สามเณรส่วนใหญ่

 

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน