คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

อนาคตการศึกษาไทย – ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และเริ่มมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของวัคซีนที่จะนำเข้ามา รวมทั้งเรื่องการเยียวยาต่างๆ ที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนสวัสดิการชิงโชค

และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เหมือนจะถูกหลงลืม และไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

นั่นก็คือกลุ่มของนักเรียน-นักศึกษา ที่ต้องปิดโรงเรียนไปร่วม 1 เดือนและยังไม่แน่ชัดว่าหากกลับมาเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.พ.แล้วจะไม่ต้อง ปิดอีก

ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษา ที่กำลังจะเข้าสู่การสอบเลื่อนระดับชั้น หรือสอบเข้าสถานศึกษาต่างๆ ต้องเผชิญปัญหาขาดการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ยังไม่นับถึงกรณีเด็กเล็ก ที่เมื่อต้องหยุดเรียน ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเรียนออนไลน์ก็ทำกันอย่างกระท่อนกระแท่น แล้วแต่โรงเรียน หรือเด็กคนไหนมีความพร้อม ก็อาจได้รับประโยชน์มากกว่า

แต่สิ่งที่ได้รับไม่ใช่การศึกษาพื้นฐานอย่างถ้วนหน้าตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างแน่นอน








Advertisement

และน่าเสียดายที่กระทรวงศึกษาธิการที่มีรัฐมนตรีอยู่ถึง 3 คน กลับไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หรือเข้าอกเข้าใจบรรดานักเรียน หรือผู้ปกครอง เลยแม้แต่น้อย

อย่างกรณีที่ต้องปิดเรียน หรือให้เรียนออนไลน์ ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องของค่าเทอมที่เก็บครบเต็มตามจำนวน แม้จะไม่ได้มีการใช้งาน

เอาเข้าจริงกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะช่วยเป็นปากเป็นเสียง เจรจาประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ ให้ลดค่าเทอม หรือจัดหางบประมาณมาชดเชย ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไรให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน

เหมือนกับปล่อยปละละเลยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม

ท่านรมว.ศธ. พอจะปรากฏในข่าวก็กลายเป็นเรื่องพยายามผลักดันภรรยา ที่เป็นแกนนำม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

ไม่ได้เกี่ยวกับการศึกษาใดๆ

คิดแล้วก็น่าสงสารเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาธิปไตยก็ต้องต่อสู้ เรียนก็ต้องเอาตัวรอด

แล้วเมื่อไหร่ประเทศมันถึงจะพัฒนา!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน