คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

เยียวยาเรารักกันเสมอภาคเท่าเทียม : กรณีรัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะจ่ายเยียวยา 4,000 บาทให้กับผู้ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์โควิด

ในส่วนของแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม ภายใช้ชื่อโครงการ ‘ม.33 เรารักกัน’นั้น นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากพอสมควร ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่มีอยู่ข้อเดียวคือ กำหนดให้ผู้มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท ไม่ได้รับสิทธิ์นี้ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งในแง่กฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน

เพราะเงินเยียวยาที่รัฐนำมาจ่าย แท้จริงคือเงินภาษีประชาชน ที่ทุกคนต้องจ่ายให้รัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

หากบอกว่าเงินเยียวยาโควิดเป็นเงินที่รัฐกู้ยืมมา ก็ต้องถามกลับว่า ท้ายสุดแล้วใครเป็นคนชดใช้หนี้ คนที่ไม่เคยได้รับเยียวยาใดๆ ต้องร่วมชดใช้ด้วยหรือไม่

และการที่คนคนหนึ่งประกอบอาชีพสุจริต มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท ก็เกิดจากการใช้ชีวิตประหยัดอดออม เก็บหอมรอมริบ ทำไมถึงต้องเสียสิทธิ์ตรงนี้ แล้วทำไมคนมีเงินเดือนสูงๆ แต่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายมือเติบจนไม่เหลือเงินเก็บ กลับได้รับเยียวยา

อีกทั้งบางคนมีเงินฝากธนาคารไม่ถึง 500,000 บาท ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาขัดสน เขาอาจเก็บเงินไว้ในรูปแบบอื่น เช่น ทองคำ หุ้น คอนโดฯ หรือเก็บเงินสดไว้ที่บ้านก็เป็นไปได้เช่นกัน








Advertisement

หรือจะบอกว่าเงิน 4,000 ถือว่าเล็กน้อยสำหรับคนมีเงิน 500,000 ในธนาคาร ก็ไม่ถูก นั่นเพราะเขาเห็นคุณค่าเงินทุกบาทไม่ว่าหลักสิบ หลักร้อย หรือหลักพัน ที่มาจากหยาดเหงื่อของเขาเองต่างหาก ทำให้เขามีเงินเก็บ 500,000

ก็แล้วใครถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่สนับ สนุนส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตแบบพอเพียง รู้จักประหยัดอดออม แต่พอถึงจุดๆ หนึ่งเขากลับต้องเสียสิทธิ์พึงมีพึงได้

เหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์ก่อนที่ ประชุมครม.จะสรุปเรื่องนี้
จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้การเยียวยาเกิดความเสมอภาคเป็นธรรม อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ให้สมกับชื่อโครงการเรารักกัน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน