จากวิกฤตโควิด สู่วิกฤตศรัทธา : ทิ้งหมัดเข้ามุม

จากวิกฤตโควิด – ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยังหาทางออกไม่เจอ

รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งถูกมองเป็นการคุกคามประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพสื่อ

จึงไม่แปลกที่จะถูกต่อต้านจากองค์กรสื่อ องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ คณาจารย์นิติศาสตร์ พรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ยังขอให้ทบทวน

ข้ออ้างเพื่อจัดการกับเฟกนิวส์ ไม่มีใครว่า ถึงที่ผ่านมาจะมีข่าวปลอมออกมาจากคนฝ่ายรัฐบาลเองไม่น้อยก็ตาม

แต่ที่ถล่มกันกระจายคือประเด็น ‘ห้ามเสนอข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ที่นักนิติศาสตร์ยังกุมขมับ

เนื่องด้วยมีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน จนไม่อาจคาดคิดได้ว่าข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

อาศัยความคลุมเครือไม่ชัดเจน ในข้อกำหนดเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจ ตีความได้กว้างขวางเกินลงกา จะยิ่งหนักหากนำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งสื่อ หรือประชาชนที่คิดเห็นต่างจากรัฐ

คนจำนวนไม่น้อยมองว่าข้อกำหนดดังกล่าวสะท้อนความจนแต้มของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาโควิด

รัฐบาลก่อความผิดพลาดมากมาย จากวิกฤตโควิด สู่วิกฤตศรัทธา

สุดท้ายจัดการโควิดไม่ได้เลยหันมาจัดการสื่อ จัดการประชาชน ทั้งที่รัฐบาลเองเสียด้วยซ้ำที่ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า

สื่อไม่ว่าสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต หรือข่าวสารข้อมูลต่างๆ ในโลกโซเชี่ยล ที่ทุกวันนี้ประชาชนเป็นสื่อได้เอง นำเสนอได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็วฉับไว

ถือเป็นประโยชน์กับรัฐบาลที่สมควรเปิดกว้างรับฟังเพื่อจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ในข่าวสารอาจมีมุมมองต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขึ้นต้องเล่นงานเอาเป็นเอาตาย

ประชาชนสูญเสียไปไม่รู้เท่าไหร่กับความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาล โดนด่าบ้างก็อย่าเปราะบางนัก

ข้อกำหนดที่ออกมา ยกเลิกได้ก็ควรยกเลิก ยังไม่สาย

รัฐบาลจะเป็นศัตรูกับใครก็เป็นไป

แต่ถ้าเป็นศัตรูกับประชาชน ต่อให้มีแบ๊กดีแค่ไหนก็ไม่รอด

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน