คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

โดย…รุก กลางกระดาน

วัดใจรัฐบาลกันเลยทีเดียว ว่าจะเดินหน้าออกพ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าพ.ร.ก.นิรโทษโควิด

เมื่อคนระดับปลัดกระทรวง ควงผู้บริหารมาอย่างครบครัน เรียกร้องให้ออกมาตรการคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข

แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงมองว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง

เพราะก่อนหน้านี้มีอีกเพียงครั้งเดียวที่ดาหน้ากันออกมา ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์หมอ ในเรื่องบริหารวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค

แต่สำหรับกรณีบุคลากรการแพทย์หลายต่อหลายแห่งออกมาเรียกร้องสวัสดิการ วัคซีนคุณภาพ mRNA หรือแม้แต่กระทั่งไฟเซอร์บริจาคเพื่อให้ถึงมือบุคลากรแพทย์อย่างแท้จริง ไม่ให้มีวีไอพีมาชุบมือเปิบ เหล่าผู้บริหารเหล่านี้กลับไม่ได้แสดงออกใดๆ

สะท้อนให้เห็นว่าให้ ‘ค่า’ กับอะไรมากกว่ากัน!??








Advertisement

อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ว่าระดับเกจิ ‘นิติบริกร’ อย่างวิษณุ เครืองาม ก็ยังเตือนให้กลับไปคิดใหม่

หรือกระทั่งอัยการ อาจารย์นิติศาสตร์ ก็มองว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายการออกเป็นพ.ร.ก. เพราะไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินร้ายแรง

ขณะที่กระแสสังคมต่างไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระ เนื่องจากร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวครอบคลุมไปถึงระดับนโยบาย ไม่ใช่แค่บุคลากรระดับปฏิบัติงานเท่านั้น

เพราะเอาเข้าจริง สำหรับหมอพยาบาลที่ทำงานด่านหน้า ก็มีความคุ้มครองตามกฎหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว

แต่การออกพ.ร.ก.นิรโทษเช่นนี้ เท่ากับคนที่บริหารงานกำหนดนโยบายผิดพลาด กลับพ้นผิดลอยนวล ไม่ต้องถูก ตรวจสอบ

เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีเรื่องคาใจอีกมากมาย ไม่ว่าทำไมถึงเลือกแทงม้าเต็งตัวเดียว เอาเฉพาะวัคซีนแอสตร้าฯ จากบริษัทสยามไบโอไซน์ จนกลับตัวช้า จะสั่งวัคซีนอะไรมาก็เนิ่นนานจนเกิดความเสียหาย

แล้วสัญญากับเอกชนที่คุยตลอดว่าจะส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดส ทั้งที่กำลังการผลิตมีไม่ถึง

หรือการสั่งวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำเข้ามาต่อเนื่อง หรือการสร้างสูตรค็อกเทลผสมวัคซีนกันเอง จนประชาชนอดรู้สึกไม่ได้ว่าต้องกลายเป็นหนูลองยา

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คนเขารับกัน ไม่ได้ และต้องทำให้กระจ่าง ให้สมกับแนวคิดคนดีที่แพร่หลายกันมาตลอด ว่า “ไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร”

หรือว่าหวั่นไหวกันบ้างแล้วก็ไม่รู้!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน