ระบบราชการล้าหลัง : ทิ้งหมัดเข้ามุม

ถึงเวลาต้องประเมินกันอย่างจริงจังแล้วว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่ สำหรับการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19

ที่รัฐบาลโดยศบค.ประกาศล็อกดาวน์ 26 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งผ่านมาร่วมเดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตไม่ลดน้อยลงเลย

หรือจะบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัวอยู่ระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน เป็นเพราะการล็อกดาวน์ ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก

เพราะเมื่อไปดูตัวเลขการตรวจที่เฉลี่ยอยู่วันละ 5 หมื่นคนเท่านั้น เมื่อเทียบผู้ติดเชื้อ ก็ยังสูงอยู่ในระดับ 40 เปอร์เซ็นต์

จึงต้องคิดและมีมาตรการให้ชัดเจนว่าหากสิ้นสุดการล็อกดาวน์วันที่ 31 สิงหาแล้ว จะต่อมาตรการต่อไป หรือจะใช้วิธีไหนแก้ไขปัญหา

เพราะต้องเข้าใจว่าทุกนาทีที่เสียไป ก็คือชีวิตของประชาชน

ที่สำคัญการระบาดระลอกนี้ของไทย เกิดขึ้นหลังจากประเทศอื่นๆ เท่ากับว่าเรามีบทเรียน มีแนวทางให้ศึกษา

ถ้าไม่ฉลาดพอที่จะคิดมาตรการใดๆ ก็ลอกคนอื่นเขามาใช้ก็ได้!??

แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น ยิ่งถ้ารับฟังบุคลากรด่านหน้าที่มาแชร์ข้อมูลที่มีคุณค่าภายในงานเสวนาออนไลน์ เฮลท์แคร์ 2021 ที่จัดโดยเครือมติชน

ก็ยิ่งย้ำชัดถึงปัญหาว่าตัวที่ฉุดรั้งไม่ให้กระบวนการแก้ปัญหาก็คือระบบราชการที่ล่าช้า

ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ด่านหน้าต้องเร่งทำงานสู้กับวิกฤต อย่างที่ผู้ว่าฯ ปู พูดชัดว่า “ไวรัสไม่มีหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ระบบราชการกลับมี”

แทนที่จะได้รับงบประมาณดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังติดขัดกับระเบียบราชการ

บริหารประเทศในยามวิกฤตเหมือนไม่วิกฤต!??

หรือกระทั่งที่ร.พ.สนามธรรมศาสตร์พบเจอ ก็คือความไม่ตรงไปตรงมาของข้อมูลรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวัคซีน การเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง งบสนับสนุนต่างๆ

หรือกระทั่งวัคซีนที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยเอง ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าวัคซีนคุณภาพนี่แหละเป็นทางรอดของประเทศ ก็ไม่มีการสนับสนุนใดๆ ไม่ได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

กลายเป็นว่าต้องจัดหาทุนด้วยการบริจาค เหมือนว่าประชาชนต้องมาช่วยเหลือกันเอง

เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟัง ไม่ให้การแก้ปัญหาเข้ารกเข้าพงมากไปกว่านี้!??

รุก กลางกระดาน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน