คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
โดย – รุก กลางกระดาน
คดีหมอกระต่าย สะท้อนองค์กรตร.

เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างอารมณ์ร่วมให้คนในสังคมอย่างรุนแรง
สำหรับกรณีหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์ ที่เสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลายที่แยกพญาไท จากการถูกชนโดยบิ๊กไบก์ ที่ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ตร.คฝ.
ไม่ว่าจะเป็นความเสียดายในตัวบุคลากรทางการแพทย์ ที่น่าจะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและคนไข้มากกว่านี้

รวมทั้งเรื่องของการรักษาวินัย หรือกฎจราจรที่ดูเหมือนจะไม่มีการควบคุมปลูกจิตสำนึก จนกลายว่าการขับรถโดยไม่หยุดให้คนข้ามเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยไปแล้ว
แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด คือการพุ่งประเด็นไปที่คนก่อเหตุ ซึ่งก็มีอาชีพเป็นตำรวจ หรือผู้พิทักษ์กฎหมาย กลับเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเองจนเกิดความ สูญเสีย
แถมไม่ใช่แค่ข้อเดียวเพราะเมื่อเช็กดูแล้วพบความผิดมากถึง 7 ข้อหา!!?

คำวิพากษ์วิจารณ์จึงรุนแรงถึงขึ้นโลกออนไลน์ ติด #ตำรวจมีไว้ทำอะไร ซึ่งหากไปติดตามเนื้อหา ก็พอจะรู้ว่าสังคมมองตำรวจไทยในยุคนี้อย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล การนำไปพาดพิงกับทั้งองค์กรก็อาจจะเกินเลยไปบ้าง
แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ถึงมองภาพตำรวจเป็นศัตรู

และหากมองอย่างเป็นกลาง ก็จะเห็นว่าในช่วงสถานการณ์การเมืองที่ดุเดือด การชุมนุมจากกลุ่มผู้เห็นต่าง ตำรวจกลายเป็นเครื่องมือกลไก ที่รัฐเลือกใช้งานเป็นอันดับต้นๆ
ทั้งปราบม็อบ ยิงกระสุนยาง ไม้กระบองทุบตี ถีบจยย.จนล้ม ล้วนเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน
แต่เมื่อไปขอความเป็นธรรม จะแจ้งความดำเนินคดี เรื่องก็เงียบหายไปกับสายลม

เหมือนว่าการใช้อำนาจของตำรวจ โดยเฉพาะคฝ.ถูกต้องชอบธรรมไปเรียบร้อย!??

ความไม่พอใจทั้งหมดจึงเปลี่ยน แปลงไปในทางเจ็บแค้น และพร้อมจะปะทุออกได้ทันทีที่มีโอกาส
ยิ่งปัญหาที่เกิดจากตำรวจทำผิดกฎหมายเสียเอง ทัวร์ยิ่งลงรุนแรง
สิ่งเหล่านี้คือความเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน ที่ดำรงอยู่ในช่วงหลายปีหลัง
หากองค์กรตำรวจไม่ตระหนัก และยึดแนวทางให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจก็ยากที่จะกอบกู้กลับมาได้จริงๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน