เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิทธิ์ ทางการเมือง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.พปชร. เนื่องจากกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ด้วยการถือครองที่ดินในจ.ราชบุรี

โดยมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี

หมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง อีกต่อไป ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้

ถือเป็นนักการเมืองคนแรก หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แปลงสภาพกลายเป็นเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาเป็นผู้มีอำนาจตัดสิน

กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า การให้การตัดสินกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น สมควรเป็นหน้าที่ของศาลหรือไม่

แน่นอนว่าหากมีการกระทำผิดกฎหมาย

ดังเช่นคดีรุกป่า ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของอัยการ หากอัยการสั่งฟ้อง ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะตัดสินพิจารณา

แต่หากไม่เกี่ยวกับกฎหมาย อย่างเช่นเรื่องของจริยธรรมซึ่งหมายถึงความถูกต้องเหมาะสม ภายในหน่วยงานของตัวเอง เหตุใดไม่ให้หน่วยงานนั้นๆ พิจารณา

การให้องค์กรอื่นเข้ามาก้าวล่วงย่อมเสี่ยงต่อการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เอื้อให้เกิดการก้าวก่ายอำนาจขึ้น

แถมเป็นการตัดสินที่ขยายอำนาจจากตัวบทกฎหมาย มาเป็นเรื่องความเหมาะสม ที่ย่อมถูกตั้งคำถามถึงเรื่องดุลพินิจว่ามีมาตรฐานตรงกันหรือไม่อย่างไร

รวมทั้งสุ่มเสี่ยงข้อครหาเรื่องการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ที่ไม่เป็น ผลดีใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ หรือองค์กรตุลาการ

ยังไม่รวมถึงการพิจารณาโทษ ตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต อันเป็นเสมือนโทษประหารทาง การเมือง ซึ่งยังต้องถกเถียงกันอีกว่าเป็นการตัดสินที่จำกัดสิทธิจนเกินพอดี อันสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง

ซึ่งในระยะยาวไม่ส่งผลดีกับเรื่อง ใดๆ เลย กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน

ไม่ให้ความเชื่อมั่นในรูปแบบการปกครองเสียหายมากไปกว่านี้!!!

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน