รบ 12 ปีแล้ว สำหรับการสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 99 ศพ บาดเจ็บพิการเกือบ 2 พันคน

จำนวนนี้มี 18 ศพที่ศาลมีคำสั่งว่าถูกกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ยิงใส่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต คือ

1.นายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค., 2.นายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงวันที่ 15 พ.ค., 3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงวันที่ 13 พ.ค., 4.ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงวันที่ 15 พ.ค.

5.พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 28 เม.ย. ขณะปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ และ 6.นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ถูกยิงวันที่ 19 พ.ค.

สำหรับรายที่ 7 ถึงรายที่ 12 รวม 6 ศพ ประกอบด้วย

นายรพ สุขสถิต พนักงานขับรถรับจ้าง, นายมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิ, นายสุวัน ศรีรักษา เกษตรกร, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์, นายอัครเดช ขันแก้ว หนุ่มรับจ้างทั่วไป และ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา

ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เขตอภัยทาน ในวันสิ้นสุดเหตุการณ์คือวันที่ 19 พ.ค.

กรณีนี้ศาลมีคำสั่งชัดว่าทั้ง 6 ศพถูกยิงจากกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่ ผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไม่พบเขม่าดินปืน และร่องรอยการยิงต่อสู้

ศาลยังระบุด้วยว่าไม่มี “ชายชุดดำ” ในที่เกิดเหตุ

ต่อมารายที่ 13-14 นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย., 15.นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค., 16.นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.

ในรายที่ 17.นายเกรียงไกร คำน้อย ซึ่งเป็นศพแรกในเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกยิงตายบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.

รายที่ 18 รายสุดท้ายคือชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.

จนถึงขณะนี้ ทั้ง 18 ศพและส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตาย ยังไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะคดีถูกประวิงไม่ให้ถึงศาล

แม้เวลาจะล่วงเลยมา 12 ปีแล้วก็ตาม!!

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน