หลังปลดล็อกกัญชาพ้นบัญชียาเสพติดประเภท 5 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นมา ทำเอาบรรดาสายเขียวต่างคึกคัก

แม้จุดประสงค์หลักคือนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ

สร้างความกังวลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เครือข่ายประชาชน และองค์กรทางศาสนาอย่างมาก

เพราะการเข้าถึงกัญชาได้ง่าย อาจจะทำเด็กและเยาวชนทดลองเสพ จนกลายเป็นเรื่องสันทนาการและมึนเมา

โดยเฉพาะโรงเรียนและรอบๆ ควรเป็นพื้นที่ปลอดกัญชาและเครื่องบริโภคที่มีส่วนผสมของกัญชา

ก่อนหน้านี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเสพและกิน

ระบุมีผลต่อพัฒนาการของสมอง อีกทั้งสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ถ้าหากเสพมากเกินขนาด








Advertisement

ล่าสุดก็พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร รับผู้ป่วยซึ่งเสพกัญชามารักษาตัวในขณะนี้รวม 3 ราย

สองในสามคน เป็นเด็กอายุ 17 และ 16 ปี 6 เดือน

ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นระบบ จึงเป็นสุญญากาศที่อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย

ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล ก็แสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม ออกแถลงการณ์และข้อเสนอแนะ

ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี โดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งในแม่และเด็ก

ไม่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย

ไม่ใช้ช่อดอกของกัญชาเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่ม หากมีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาในอาหารและเครื่องดื่ม ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า

ขอให้ภาครัฐ เร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีมาตรการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนและสังคม

ผู้ที่ต้องการใช้กัญชา ต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนเสมอ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์และแจ้งข้อมูลการได้รับกัญชาอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที

ดังนั้น รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลที่ผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จ จะต้องหามาตรการป้องกันและใช้ความรู้แก่ประชาชนด้วย

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน