มันฯมือเสือ

พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาส.ว. กำลังเป็นประเด็นใหม่น่าจับตา

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกมลากยาวอำนาจ

หลังจากที่ประชุม สนช.มีมติให้การใช้บังคับพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ขยายไปอีก 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อันมีผลทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งพ.ย.2561 ที่ผู้นำรัฐบาลเคยประกาศไว้

ต้องขยับตามไปด้วยโดยปริยาย

คำถามน่าสนใจก็คือ การเลื่อนเลือกตั้งจะหยุดอยู่ภายในเดือนก.พ.2562 ตามการประเมินรอบใหม่จริงหรือ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.อีกต่อไป

ถึงแม้ยังมีอย่างน้อย 2 ช่องทางให้ยื้อได้อีก

หากมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช. กรธ. และ กกต.ขึ้นมาพิจารณาข้อทักท้วง รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แต่จากกระแสโดยรวมดูเหมือนเรื่องจะไม่ไปถึงขั้นนั้น

เนื่องจาก 3 ฝ่ายไม่มีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นการขยายเวลา ออกจะเห็นคล้อยตามกันเสียด้วยซ้ำไป

หากพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ทั้งนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ. ของสนช. โดยเฉพาะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

จะพบว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาส.ว. ต่างหากน่าเป็นห่วง

ไม่ใช่แค่ที่ประชุม สนช.จะลดกลุ่มอาชีพจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม

ที่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ คือการแก้ไข ให้แบ่งประเภทวิธีการสมัคร ส.ว.เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสมัครโดยอิสระ กับประเภทที่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ

จุดนี้ต่างหากที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

มีแนวโน้มนำไปสู่การโต้แย้งเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ไปจนกระทั่งแนวทางการกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ที่ว่าก.พ.2562 จึงยังไม่แน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน