เป็นประเด็นดราม่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคงเว้นที่จะพูดถึงไม่ได้

สำหรับกรณีโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องนักแสดงที่จัดกิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขง เพื่อรับเงินบริจาคจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

หลังจบกิจกรรมไปแล้วจะได้รับเงินบริจาคถึงกว่า 60 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่มากโข และต้องอนุโมทนาสาธุให้กับผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น

แต่ปัญหาสำคัญที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม นั่นก็คือคำถามถึงการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ควรจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิในพื้นที่ห่างไกล ที่ควรจะรองรับจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ได้

รวมทั้งเรื่องของบุคลากรที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เวลาทำงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้าเกินขอบเขตอันส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนไข้

ซึ่งก็ไม่มีคำตอบใดๆ ว่า เหตุใดการบริหารจัดการของระบบจึงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ และเวลาขาดแคลน ก็ต้องอาศัยการทำอีเวนต์รับบริจาคเช่นนี้อยู่ร่ำไป

จะว่าประเทศเรายากจนข้นแค้น มีงบอันจำกัด ก็อดเอาไปเปรียบเทียบกับการจัดซื้ออาวุธทั้งเรือดำน้ำ เครื่องบินรบ หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่วิลิศมาหรา ก็ต้องเห็นว่าประเทศเรานี่ก็ร่ำรวยไม่หยอก








Advertisement

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ารัฐ หรือผู้มีอำนาจให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า!!!

ไม่ใช่มายาคติความยากจน หรือเป็นเพราะ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ เพราะคิดว่าได้รับการรักษาฟรี เหมือนที่บรรดาแพทย์กลุ่มหนึ่งพยายามยัดเยียดชุดความคิดให้กับสังคม

เพียงเพื่อโยนความผิดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ระดับล่าง และทำให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบกับความขาดแคลนที่เกิดขึ้น

ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวคิดเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่

ซึ่งก็หวังว่ากระแสสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จะทำให้คนที่ยังหลงเชื่อในมายาคติดังกล่าว ตาสว่างขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย!!

รุก กลางกระดาน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน