สุกดิบโหมโรงกันมาตั้งแต่วันจันทร์แล้ว

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 หรือเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ได้เป็นโต้โผใหญ่การประชุมที่มีความสำคัญระดับโลก

ครั้งแรกปี 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และอีกครั้งในปี 2546 ยุครัฐบาลอดีตพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ต้องไม่ลืมว่า การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ สืบเนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้แสดงความประสงค์ต่อการประชุมเอเปค 2555 ที่วลาดิวอสต๊อก ประเทศรัสเซีย

ต่อมาคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบด้วย

เอเปคมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 19 ประเทศ กับ 2 เขตเศรษฐกิจ ล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสิ้น

ปีนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อานิสงส์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม








Advertisement

ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance”

แต่ชาวบ้านรับรู้เพียงว่ารัฐบาลพยายามหาซอฟต์เพาเวอร์ที่เป็นจุดขายความเป็นไทย โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน

ไม่ว่าจะเป็นปลากุเลาตากใบ เนื้อโคขุนโพนยางคำ สกลนคร และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

ส่วนของที่ระลึกก็เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากโคราช เป็นเนกไท และผ้าคลุมไหล่สตรี

แต่ใช้ของแบรนด์เนมระดับโลก “จิม ทอมป์สัน”

เทียบกับเมื่อปี 2546 เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ถักทอตัดเย็บให้ผู้นำที่ไม่มีผู้แทนทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสวมใส่อย่างสวยงามอลังการ

เป็นผ้าไหมเนื้อดีจากบ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์

มีสตอรี่กระบวนการผลิตศิลปหัตถกรรมที่น่าสนใจ ตั้งแต่การเลี้ยงตัวไหม สาวไหม ทอผ้าด้วยกี่มือ ย้อมสี ออกแบบ ตัดเย็บจนกระทั่งสำเร็จรูปออกมา

ทำให้บ้านท่าสว่างกลายเป็นหมู่บ้านผลิตผ้าไหมคุณภาพ ที่รู้จักกันทั่วโลก ในนาม “หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล” ตามนโยบายรัฐบาลขณะนั้น

แต่ซอฟต์เพาเวอร์ของเจ้าภาพครั้งนี้ ดูเหมือนไม่มีสตอรี่ ปลากุเลาก็ซื้อทางออนไลน์

เนื้อโคขุนโพนยางคำ ก็ขาดเรื่องราว ส่วนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ๆ ก็วางอยู่บนจานเสิร์ฟในงานจัดเลี้ยงแล้ว!!!

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน