เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ยอมรับว่า

กมธ.มีแนวคิดเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ให้นายกฯ อยู่ในวาระได้มากกว่า 8 ปี โดยให้เหตุผลว่าใครจะเป็นนายกฯ นานเท่าไหร่ ควรให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. แสดงความเห็นสนับสนุน โดยยกตัวอย่างหากพล.อ.ประยุทธ์พ้นวาระ 8 ปี แต่เป็นคนดี ก็ไม่ควรจำกัดวาระการทำงาน เพราะคนดีอยู่เกิน 8 ปีไม่เป็นไร

ความจริงประเด็นจำกัดวาระนายกฯ 8 ปี มีความเห็นแบ่งออกเป็นเห็นด้วย กับไม่เห็นด้วยมาแต่ไหนแต่ไร

รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่กำหนด มากำหนดไว้ในฉบับ คสช.ปี 60 ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ แต่ลึกๆ ที่รู้กันคือกลัวพรรคทักษิณจะชนะเลือกตั้งแล้วได้อยู่ยาว จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม

แต่พอพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ใกล้ครบวาระ 8 ปี บรรดาลูกหาบนั่งร้านก็เลยยอมเสี่ยงโดนทัวร์ลง จุดพลุเปิดประเด็นแก้มาตรา 158 ให้นายกฯ อยู่ได้เกิน 8 ปี

ยังดีที่ในวุฒิสภามีส.ว.ที่แสดงความเห็นเป็นกลางๆ ว่า การกำหนดวาระผู้นำ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ

บางประเทศก็ไม่ให้ความสำคัญเพราะมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ขณะที่บางประเทศมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ควรให้เกิดการผูกขาดอำนาจ








Advertisement

จะอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเสนอแก้ไขจริง ตอนนี้ก็คงไม่ทันเวลา เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่นอกจากต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของรัฐสภา

ยังมีเงื่อนไขว่าต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของส.ว. และ 1 ใน 5 ของฝ่ายค้านมาร่วมด้วย

รวมถึงเมื่อเข้าเงื่อนไขการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ จึงต้องไปทำประชามติทั่วประเทศกับเวลาสภาที่เหลืออยู่ 1-2 เดือนจึงไม่ทัน

ส.ว.หัวหอกเรื่องนี้ก็รู้เพราะเป็นนักกฎหมาย ที่จุดพลุเปิดประเด็นก็แค่ต้องการยั่วพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่จ้องแต่จะปิดสวิตช์ส.ว.อยู่ร่ำไป เพียงแต่ครั้งนี้พลังประชารัฐ พรรคเก่าของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย เรื่องก็เลยจบเร็ว

ซึ่งส.ว.ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ควรจบไม่อย่างนั้นจะถูกมองว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว

สุดท้ายที่จะเสียหายมากที่สุดก็คือพล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน