เป็นอีกหมากทางการเมืองที่ถูกจุดประเด็นเมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งทั่วไป

นั่นก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกเรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 8 ปี ให้เป็นได้ไม่จำกัด

และแม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยากที่ปฏิเสธว่ามีส่วนได้เสียโดยตรง

เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาเกิน 8 ปีแล้ว เพราะเป็นมาตั้งแต่ปี 2557

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นับเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ก็เท่ากับว่ายังจะเป็นได้อีก 2 ปี หรืออีกแค่ครึ่งวาระ

และที่น่าสนใจกว่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาจุดประเด็นเรื่องดังกล่าวก็คือกลุ่มส.ว.ที่ได้รับการสรรหาจากคสช.

เป็นส.ว.ที่โหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ท่วมท้น และโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน

แถมยังจะเลือกนายกฯ ได้อีกเป็นครั้งสุดท้ายตามบทเฉพาะกาล

ดังนั้น หากมีการแก้ไขก็เท่ากับว่ามีโอกาสเป็นต่อ ดูเหมือนจะแก้ปัญหาการอยู่ครึ่งวาระของพล.อ.ประยุทธ์ได้

เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อมตามทฤษฎี แต่จะทำได้จริงหรือไม่!??

เอาว่าไม่จำเป็นต้องสนใจความรู้สึกของประชาชนว่าจะรู้สึกอย่างไรกับข้อครหาความพยายามสืบทอดอำนาจ

แต่จริงๆ แล้วกลไกของรัฐสภา ทำได้จริงหรือไม่!??

แน่นอนว่าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากแก้เย็น ก็เพราะกำหนดให้ต้องมีเสียงส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

ในความเป็นจริงเสียง ส.ว.ที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์จะถึง 84 เสียงหรือไม่

อีกทั้งยังต้องมีเสียงส.ส.โหวตให้เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งยังมองไม่ออกว่านอกจากส.ส.รวมไทยสร้างชาติ ที่เสนอพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตแล้ว จะมีใครโหวตให้อีก

จึงอดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพียงแค่การวางบิล โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเป็นแรงดึงดูดส.ส.เข้าสังกัด หลังเปิดตัวพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฮือฮาตามคาด

ซึ่งก็ต้องรอดูว่าแผนนี้จะสำเร็จหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ กลายเป็นการจุดประเด็นของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ต้องการเห็นพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ รณรงค์ให้ไม่เลือกรวมไทยสร้างชาติ ไม่ให้มีส.ส.เกิน 25 คน

จะรุ่งหรือจะร่วงคงต้องรอดูกัน!!!

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน