ในการประชุมวุฒิสภาวันจันทร์ที่ผ่านมา พิจารณาผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ซึ่งมีส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานกรรมาธิการ

มีสาระสำคัญหลายเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา แต่เมื่อเป็นข่าวออกสู่สาธารณะ บางเรื่องสังคมก็มีความเห็นต่างหลักๆ อย่างเช่นประเด็นการจูงใจคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การแก้ปัญหาซื้อเสียง

มีข้อเสนอ กำหนดให้ภาครัฐมีค่าพาหนะแก่ประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งคนละ 500 บาท ใช้งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาทสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน

ผู้เสนอให้เหตุผลว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจูงใจประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ช่วยให้เกิดแนวคิดตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน แทนการตอบแทนนักการเมือง ให้การใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้คนดี มีคุณธรรม จริยธรรม

กับอีกประเด็น เสนอแก้ไขกฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่รับเงินซื้อเสียง ไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่รับเงินจากนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง กล้ามาเป็นพยานชี้ตัวคนทำความผิด เพื่อลงโทษ

ด้วยวิธีนี้ คนเห็นด้วยก็สนับสนุน ส่วนคนไม่เห็นด้วยมองว่า การจูงใจประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ภาครัฐควรรณรงค์ชี้แจงให้ประชาชนตระหนักถึงผลดีในการออกมาใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่พรรคการเมือง หรือผู้เสนอตัวลงเลือกตั้งส.ส. ก็ต้องจูงใจประชาชนด้วยการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงาน พร้อมนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชาติบ้านเมือง

สิ่งสำคัญที่สุด การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ โปร่งใส เที่ยงธรรม ต้องไม่อยู่ภายใต้อามิสสินจ้างใดๆ

การป้องกันซื้อสิทธิ์ขายเสียงทำได้หลายกรณี แต่ไม่ควรใช้เงินเป็นแรงจูงใจ ขณะเดียวกันองค์กรซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอย่าง กกต. ก็ต้องทำงานเชิงรุก และไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลการเมืองฝ่ายใด

การเสนอแก้ไขให้ผู้รับเงินซื้อเสียง ไม่มีความผิดตามกฎหมาย เพื่อจูงใจสร้างความกล้าชี้ตัวคนทำผิดซื้อเสียงนั้น ความจริงคือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนรับเงินไปแล้วจะไปแจ้งต่อ กกต.

สรุปว่า ข้อเสนอแก้ปัญหาซื้อเสียงของวุฒิสภา แม้มีเจตนาดี แต่น่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ

แต่ก็คงโทษใครไม่ได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ไม่มีใครมาจากการเลือกตั้งสักคนเดียว

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน