เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการประชุมสภาเพื่ออภิปรายตามมาตรา 152 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

สำหรับถ้อยคำชี้แจงและตอบโต้ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ต่อคำอภิปรายของนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ก้าวไกลในประเด็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง หรือกลุ่มนักโทษทางความคิด

ซึ่งบางช่วงบางตอนพูดถึงเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถามว่าเด็ก 14 ปี ออกมาได้อย่างไร ทั้งที่เขาควรจะเรียนหนังสือ รักพ่อรักแม่ รักครูอาจารย์

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง โดยไม่โดนคดีอะไรด้วย หรือมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง

เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ ทราบอยู่เต็มอกว่ามีเด็กอายุ 14 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

และคิดว่ามีคนที่ปลุกปั่นยุยงอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้เด็กออกมาเคลื่อนไหว ขณะที่ตัวเองไม่ได้โดนคดีอะไร

กลายเป็นคำถามว่า เมื่อทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และเชื่อว่าเด็กไม่ได้ทำเอง ในฐานะผู้นำของประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทำไมถึงยอมให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้

ทำไมไม่เข้าไปตรวจสอบว่ามีปัญหาอะไร ทำไมกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเช่นนี้ และเด็กอายุ 14 สมควรหรือไม่ที่จะต้องถูกดำเนินคดี

หากมีหลักฐานชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลัง หรือเข้าข่ายการกระทำผิดก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ไม่ใช่มาเอาผิดกับเด็กอายุเพียง 14 ปี

หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ย่อมทำให้สังคมมองได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหา หรือรู้แหละว่าเป็นปัญหา แต่จะไม่แก้ไข

ย่อมทำให้สภาพสังคมที่ขัดแย้งเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่หาทางออกให้สังคมที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แตกแยก

ทำให้ยิ่งสงสัยว่าหากหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีก อย่างน้อยบรรยากาศในช่วงม็อบปี 2562-2563 ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย

กลายเป็นการต่อสู้กับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราอย่างไม่มีจบสิ้น

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะตัดสินอนาคตตัวเองผ่านการเลือกตั้ง

อยากได้รัฐบาลแบบไหน อยากได้สังคมแบบไหน ก็ต้องตัดสินใจกันเอาเอง!!

รุก กลางกระดาน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน