คึกคักเต็มที่จริงๆ สำหรับการเดินหน้าหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ที่แม้จะยังไม่ประกาศยุบสภา แต่ก็ลงพื้นที่กันถี่ยิบ

ประกาศนโยบายเกทับกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นค่าแรง การสาธารณสุข การอัดฉีดเพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้

ซึ่งดูแล้วก็เป็นเรื่องดี หากทำได้จริง เพราะคนได้ประโยชน์ ก็คือประชาชนที่ยากจน ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังเกิดคำถามว่านโยบายที่สวยหรูเหล่านี้สามารถทำได้จริงหรือไม่

ยังไม่ต้องพูดถึงประสิทธิภาพ ความตั้งใจว่าจะทำตามที่พูดหรือไม่

เอาแค่เรื่องงบประมาณของประเทศมีเพียงพอหรือไม่

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ก็เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 10.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

โดยช่วงโควิดประเทศไทยมีรายจ่ายสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้คือหนี้ที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมจ่าย รวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงที่เพิ่งลืมตาดูโลก

น่าสนใจที่นายอาคม ระบุว่า หนี้ 10.5 ล้านล้านบาทนั้น ครึ่งหนึ่งสะสมมาก่อนโควิด

เท่ากับว่าช่วง 3 ปีที่เผชิญกับโควิดนี้ ประเทศไทยสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว!!!

กลายเป็นคำถามว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปสถานะของประเทศจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเอาเข้าจริงแล้วประเทศก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการกู้ยืมเงินในอนาคตในรูปแบบหนี้ พิมพ์เงินเพิ่มเอามาใช้จ่าย ซึ่งก็น่าจะผ่านไปได้สักเวลาหนึ่ง

แต่ตราบใดที่วงจรการกู้หนี้มีปัญหา ผิดนัดชำระหนี้สาธารณะ จนกระทั่งฟองสบู่หนี้แตกขึ้นมา

ความหายนะไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปแม้แต่นิดเดียว

จึงสำคัญอย่างยิ่งที่แต่ละพรรคการเมือง ควรจะต้องพูดถึงเรื่องการหารายได้ การส่งเสริมให้เกิดโปรดักทิวิตี้อย่างแท้จริง

ซึ่งต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ การเข้าใจโลก เข้าใจประเทศ ว่าจะเดินไปในทิศทางไหนในอนาคต

ไม่เช่นนั้นการหลุดออกจากวงจรอุบาทว์นี้ก็ยากเต็มทน

ปัญหาอยู่ที่ว่าในเวลานี้เรามีผู้นำที่มีคุณสมบัติครบเสนอตัวแล้วหรือยัง และถ้ามีก็ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จะกำหนดทิศทางอย่างไร

ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง!!

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน