วันที่ 7 เม.ย. คือวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนฯทั้ง 2 ระบบ คือระบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ

รวมทั้งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ

แบ่งเป็นระบบเขตทั่วประเทศ 400 เขต แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งสรุปแล้วมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งสิ้น 57 พรรคการเมือง

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 100 คน มี 2 พรรค ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น พรรคประชาธิปัตย์ส่ง 98 คน พรรคภูมิใจไทย 98 คน พรรคไทยสร้างไทยส่ง 97 คน พรรคก้าวไกล 92 คน พรรคพลังประชารัฐ 85 คน และพรรคประชาชาติ 68 คน

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศ 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 52,287,045 คน เป็นเพศชาย 25,136,051 คน เพศหญิง 27,150,994 คน

แต่สำหรับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น กำหนดให้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คำนวณจากคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับความไว้วางใจ หรือที่เรียกว่าหาร 100

สำหรับพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนมากนั้น น่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่แล้ว

ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ที่หนก่อนไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย เนื่องจากจำนวน ส.ส.เขตได้รับเลือกตั้งเกิน ส.ส.พึงมี

แต่ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ เชื่อว่าจะได้ ส.ส.ระบบนี้จำนวนไม่น้อย

คาดการณ์กันว่า พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไว้ที่ 50 ที่นั่งนั้น เซฟโซนที่น่าจะได้เข้าสภาแน่ๆ อยู่ที่ 40 อันดับแรก

พรรคก้าวไกล ตั้งเป้าไว้ที่ 30 ที่นั่งขึ้นไป เซฟโซนอยู่ที่ 20 อันดับแรก

พรรคพลังประชารัฐ ตั้งเป้า 20 ที่นั่งขึ้นไป เซฟโซนอยู่ที่ 10 อันดับแรก

พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งเป้าไว้ที่ 20 คน เซฟโซนอยู่ที่ 10 อันดับแรก

พรรคภูมิใจไทย ไม่เปิดเผยเป้า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่เซฟโซนน่าจะอยู่ที่ 10 อันดับแรก

พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ที่นั่ง เซฟโซนอยู่ที่ 3 อันดับแรก

พรรคประชาชาติ ตั้งเป้า 5 ที่นั่ง เซฟโซนน่าจะอยู่ที่ 4 อันดับแรก

คะแนนพรรคนั้นองค์ประกอบที่สำคัญ คือความนิยมจากบุคคลที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรี และความนิยมต่อ ส.ส.เขตเองด้วย!!

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน