1 เดือนหลังประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จผ่านขั้นตอนต่างๆ มาถึงจุดที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอีกไม่กี่วันข้างหน้า

จากนั้นจะประชุม ครม.นัดแรก โดยมีประเด็นใหญ่นอกจากการลดราคาค่าพลังงานไฟฟ้า และน้ำมัน คือการเดินหน้ากระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามสัญญาที่พรรคเพื่อไทยให้ไว้ในช่วงหาเสียงและระหว่างจัดตั้งรัฐบาล

รัฐบาลเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นการวางแนวนโยบายที่ถูกต้อง เพราะพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งในเรื่องนี้

แม้ไม่ได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จเต็มร้อย ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้ “ผิดฝาผิดตัว” อยู่บ้าง แต่การที่นายกฯ นั่งควบ “ขุนคลัง” ถือเป็นการกุมความได้เปรียบด้านการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งมีเสียงตอบรับจากภาคเอกชนเชิงบวก

กระนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำควบคู่กันไปกับแก้ไขเศรษฐกิจปากท้อง คือเร่งเดินหน้าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เหตุที่ต้องเร่งทำทันทีเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่เพียงมีกลไกลกับดักสลับซับซ้อนยากต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข การจัดทำร่างใหม่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น

สังคมรับรู้กันโดยทั่วไป รัฐธรรมนูญปี 60 เขียนขึ้นมาอย่างแยบยลเพื่อรองรับการสืบต่ออำนาจของคณะผู้ก่อการรัฐประหารปี 57 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มพี่น้อง “3 ป.”








Advertisement

แต่เกิดข้อผิดพลาดไม่เป็นไปตามแผนอยู่ยาว เนื่องจากพรรคของ “สองลุง” แพ้การเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ชนิดยับเยิน

ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญ 60 ก็ยังสร้างปัญหาให้การเมืองไทยไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่พรรคชนะอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับ 2

ที่แม้จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแต่ก็ต้อง “ผสมข้ามขั้ว” มากถึง 11 พรรค ยอมผิดคำพูดด้วยการดึงพรรคของ “สองลุง” เข้าร่วม จนเสียคะแนน “ความน่าเชื่อถือ” ทางการเมือง

ตรงนี้เองจึงเป็นเหตุผลนอกจากการเร่งมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเร่งทำควบคู่กันไป คือการนำพาประเทศเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ถ้าทำได้ก็จะช่วยกอบกู้ภาวะถดถอยด้านความน่าเชื่อถือทางการเมืองขึ้นมาได้บ้าง

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน