รัฐบาลเศรษฐาเปิดเผย “จุดอ่อน” หลังประชุมครม.นัดแรกสัปดาห์ก่อน ที่ก่อให้เกิดคำถามตามมาจากการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาล เกี่ยวกับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.

ว่าในโลกความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เข้ามาช่วยกลั่นกรองการดำเนินงานของรัฐบาลเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล หรือไม่

เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดด้านการสื่อสารกับสังคม จนเกิดความเข้าใจผิด หรือนำไปสู่การตีความต่างๆ นานา ไม่ตรงกับสิ่งที่นายกฯ หรือรัฐบาลต้องการจะทำ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เป็นคนแรกๆ ที่แสดงความเป็นห่วงการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาลที่อาจทำให้นายกฯ ได้รับผลกระทบไปด้วย พร้อมกันนั้นยังเสนอว่า พรรคเพื่อไทยควรให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองนายกฯ ดูแลงานกฎหมายของรัฐบาล

ในอดีตตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย มีนักกฎหมายผู้เข้าใจกฎหมายมหาชนและการบริหารราชการแผ่นดินจำนวนมาก เช่น นายโภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายนพดล ปัทมะ

เหตุที่พรรคแกนนำต้องมีคนของตนเองแนวนี้ ก็เพื่อทำงานและ “ชน” กับนักกฎหมายในระบบราชการ รัฐบาลจำเป็นต้องมีคนทำหน้าที่นี้

นอกจากนายปิยบุตร ยังมีอาจารย์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์หลายท่าน ที่เห็นไปในทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรมีมือกฎหมาย หรือจะเรียกว่า “เนติบริกร” ก็ได้ เข้ามาช่วยงาน

เหมือนที่นายวิษณุ เครืองาม “ต้นตำรับ” เนติบริกรช่วยให้รัฐบาล “ประยุทธ์” รอดพ้นคมหอกดาบกฎหมายหลายครั้งตลอด 9 ปีที่ผ่านมา








Advertisement

ตอนนี้ยังเป็นจังหวะที่รัฐบาลใหม่จะแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้ แม้รองนายกฯ จะเต็มโควตา แต่ยังเหลือรัฐมนตรีว่าง 2 ตำแหน่ง ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นโควตาเพื่อไทย อาจตั้งรมต.ประจำสำนักนายกฯ ดูแลงานกฎหมายโดยเฉพาะ

การตั้งเป็น “รัฐมนตรี” ไม่ใช่ “ที่ปรึกษา” ก็เพื่อให้เข้าร่วมประชุม ครม.ได้ เวลาที่ประชุมมีปัญหาข้อกฎหมายจะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจได้ทันที ว่าอะไรทำได้ หรือควรทำ โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือขั้นตอนกฎหมาย

ที่บางครั้งก็สลับซับซ้อนเกินกว่านายกฯ จากภาคนักธุรกิจจะเข้าใจได้

รวมถึงการแถลงข่าวในนามรัฐบาลจะต้องสื่อสารกับสังคมให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนเป็นผลเสียกับรัฐบาลเอง

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน