ส้นทางร่างรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้หลักการสำคัญ ตามที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เคยแถลงไว้

ว่าจะต้องทำประชามติก่อน เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่แตะต้องพระราช อำนาจที่แทรกอยู่ในมาตราต่างๆ นอกนั้นจะทำให้เกิดกระบวนความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เท่าที่จะ มากได้

คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ กำหนดกรอบพิจารณา 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ควรเป็นอย่างไร ที่มาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาจากการ เลือกตั้งทุกจังหวัด เลือกตามฐานประชากร หรือมาจากการแต่งตั้ง บางส่วน และจะใช้คำถามในการทำประชามติอย่างไร

ล่าสุด นายภูมิธรรมได้ลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะอนุฯ รับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางทำประชามติฯ กับ คณะอนุฯ ศึกษาแนวทางทำประชามติ

เพื่อศึกษาแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ คือต้องจัดทำประชามติ ครั้งแรก อย่างช้าในไตรมาสแรกปี 2567 จากนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ก่อนจัดส่งให้คณะกรรมการการ เลือกตั้ง หรือ กกต.ดำเนินการ

สำหรับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แน่นอนต้องเริ่มด้วยการจัดทำประชามติก่อน

ส่วนจะจัดทำกี่ครั้งนั้น มีหลายความคิดเห็น บางคนบอก 2 ครั้ง ก่อนกับหลังการยกร่าง บางคนบอกถ้าดูตามแนวทาง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ต้อง 3 ครั้ง หรือบางคนอาจตีความไปถึง 4 ครั้งก็มี

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาตามที่ประมาณการว่าการจัดทำประชามติต้องใช้งบตัวเลขกลมๆ ราว 4,000 ล้านบาทต่อครั้ง ทำ 2 ครั้ง 8,000 ล้านบาท ถ้า 3 ครั้งก็ 12,000 ล้านบาท

ไม่นับรวมหากต้องแยกการจัด เลือกตั้ง ส.ส.ร. ออกจากการทำประชามติ ก็ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก 4,000 ล้านบาท

นี่คือรายจ่ายประชาธิปไตย จำเป็นก็ต้องจ่าย ส่วนจะคุ้มค่ากับงบหมื่นล้านหรือไม่นั้น คำตอบขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลสุดท้ายเนื้อหาแก่นกลาง จะออกมาอย่างไร

เป็นฉบับประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นฉบับประชาธิปไตยในระดับที่ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับ ได้หรือไม่

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน