โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กลับมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับกระทรวงการคลังว่าสามารถออกพ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้

แต่ในคำตอบก็มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ ในเรื่องให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ในเรื่องความคุ้มค่า จะต้องประเมินผลได้ทั้งก่อนและหลังโครงการ

ตามมาตรา 53 คือต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการให้ครบถ้วน

ส่วนที่สอง ที่มีข้อเสนอแนะ คือการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ซึ่งต้องพิจารณาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และต้องประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อเชิญทุกฝ่ายมา

รวมถึงเลขาฯ กฤษฎีกา หนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุมทราบถึงคำตอบของกฤษฎีกา และสรุปให้ที่ประชุมฟังว่า ในความเห็นนั้นๆ มีความหมายเช่นไร และควรดำเนินการอย่างไร

คณะกรรมการนโยบายฯ นี้ มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธาน

รองประธาน 4 คน คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

มี 2 รมช.คลังเป็นคณะกรรมการ ปลัดคลัง ปลัดพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้ว่าฯ ธปท. สภาพัฒน์ ผอ.สำนักงบฯ เลขาฯ กฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผบ.ตร. ร่วมด้วย

คณะกรรมการจะทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดโครงการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กรอบวงเงิน รายละเอียดที่มาแหล่งเงิน งบประมาณ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ รวมถึงข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของกฤษฎีกา

การประชุมคณะกรรมการคาดว่าจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะต้องมีมติว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไรเกี่ยวกับโครงการ ไม่รู้จะได้ข้อยุติในการประชุมรอบเดียวหรือไม่

แต่ที่รู้คือประชาชนครึ่งค่อนประเทศต่างใจจดจ่ออยู่กับโครงการ ขณะที่รัฐบาลยืนยันแม้จะถูกคัดค้านจากฝ่ายเห็นต่างอยู่บ้าง แต่ทุกอย่างเริ่มชัดขึ้น และยังเดินหน้าตามกรอบเวลาเดิมคือเดือนพ.ค.2567 ยังไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อนแต่อย่างใด

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน