ฮไลต์การเมืองอยู่ที่การประชุม คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต15 ก.พ. หลังจาก ป.ป.ช.ตั้งโต๊ะแถลง 4 ปมเสี่ยง 8 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการเมื่อสัปดาห์ก่อน

หลายคนจับตารัฐบาลจะให้น้ำหนักความสำคัญกับความเห็นและข้อเสนอแนะของป.ป.ช.แค่ไหน

เบื้องต้นหากฟังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ข้อที่พอรับฟังและหาวิธีป้องกันได้คือ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ เสี่ยงต่อการทุจริต เชิงนโยบาย เสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่ม เป้าหมายในโครงการ รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎหมาย

ส่วนข้ออื่น ไม่ว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน เรื่องนโยบายพรรคการเมือง และอีก 8 ข้อเสนอแนะ ที่รัฐบาลมองว่าเกือบทุกข้อเป็นการพิจารณาเกินอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.

ที่เขียนกำหนดในพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 32 ป.ป.ช.มีหน้าที่และอํานาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อ ครม.

หนึ่ง ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ วางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ

สอง จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด

และสาม เสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้

ทั้งหมดมีเท่านี้ ไม่มีเรื่องอื่น

ส่วนที่อาจมีคนนำรายงานของ ป.ป.ช.ไปเป็นสารตั้งต้นยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ใครจะทำคงห้ามกัน ไม่ได้

แต่พรรคก้าวไกลที่ตั้งแง่กับดิจิทัลวอลเล็ตมาตลอด และยืนยันคัดค้านในสภา ถึงที่สุด ก็ยังเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่องค์กรอิสระ

“เราไม่เห็นด้วยที่องค์กรอิสระจะ เข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในลักษณะนี้ การจะมาบอกว่าโครงการทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรอิสระ แต่เป็นหน้าที่สภา ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่าว่าจะให้โครงการนี้ผ่านหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าว

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน