สืบเนื่องจากคดีเด็กเยาวชนก่อเหตุเกิดขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ด.ช.วัย 14 ยิงคนในห้างกลางกรุง หรือกลุ่มเยาวชนรุมทำร้ายผู้อื่นจนตายที่อรัญประเทศ กลายเป็นปมปัญหาใหม่และใหญ่ของสังคมปัจจุบัน

ล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาอายุการกระทำความผิดของเด็กเยาวชนช่วงปี 2559-2566

พบว่า 1.กลุ่มคดีอุกฉกรรจ์ อายุ 10-18 ปี รวม 1,645 คดี ทำผิดสูงสุด ได้แก่ อายุ 17 ปี (418 คดี), 18 ปี (416 คดี), 16 ปี (367 คดี)

นับแต่ปี 2565 พบว่าผู้ก่อเหตุอายุ 10-18 ปี แนวโน้มสูงขึ้น คดีสูงสุด ได้แก่ ฆ่าผู้อื่น (954 คดี) ปล้นทรัพย์ (109 คดี) และชิงทรัพย์ (97 คดี)

2.กลุ่มความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย รวม 4,318 คดี ทำผิดสูงสุด ได้แก่ 18 ปี (1,398 คดี), 17 ปี (1,025 คดี), 16 ปี (805 คดี) อายุต่ำกว่า 10 ปี 20 คดี และพบว่าทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายสูงถึง 1,860 คดี

3.กลุ่มความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รวม 5,903 คดี ทำผิดสูงสุด ได้แก่ 18 ปี (1,820 คดี), 17 ปี (1,137 คดี), 16 ปี (960 คดี) อายุต่ำกว่า 10 ปี 29 คดี และพบว่าอายุ 10-18 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ลักทรัพย์ 2972 คดี ฉ้อโกง 921 คดี และวิ่งราวทรัพย์ 57 คดี

แม้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กเยาวชน มุ่งคุ้มครอง เน้นการสงเคราะห์ บำบัดฟื้นฟู แก้ไข เยียวยา เพื่อคำนึงถึงอนาคตของเด็กเยาวชน แต่การพิจารณาการกำหนดโทษ สามารถกำหนดมาตรการเหมาะสมกับพฤติการณ์ได้ เช่น ความผิดร้ายแรง กระทำผิดซ้ำ อาจกำหนดโทษจำคุก เพื่อให้หลาบจำได้ในบางกรณี

สำหรับต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ กำหนดอายุไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องรับโทษ ส่วนเยอรมนี แคนาดา ฝรั่งเศส จะพิจารณาเกณฑ์อายุและประเภทความผิดร้ายแรงประกอบกัน เพื่อกำหนดโทษสำหรับเด็กเยาวชนได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่








Advertisement

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันว่า สังคมไทยควรพิจารณากำหนดเกณฑ์อายุของเด็กเยาวชนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

โดยอาจเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.อาญา มาตรา 74 จากเดิมเด็กอายุกว่า 10 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ

แก้เป็น “เด็กอายุกว่า 10 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปี” ไม่ต้องรับโทษ

สังคมไทยทุกภาคส่วนต้องพิจารณาและตัดสินใจร่วมกัน

ถึงเวลาแก้กฎหมาย “อายุเด็กกระทำผิด ไม่ต้องรับโทษ” หรือยัง?!

นายเจ็ดอักษร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน