สังคมจับจ้องการกลับมาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

บทบาทหลังการพักโทษ 18 ก.พ. จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองจากนี้อย่างไร

หลายคนมองว่า ด้วยบารมีด้านการเมืองและธุรกิจ การกลับมาของทักษิณ จะมีส่วนทำให้รัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ เป็นปึกแผ่น บริหารงานได้ไหลลื่นมากขึ้น ด้วยคำปรึกษาของอดีตนายกฯ ผู้มากประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการให้คำปรึกษาต้องไม่เป็นทางการ และไม่ล้วงลึกจนเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นผลเสียต่อรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี

อย่างที่เริ่มมีการจุดประเด็น 1 ประเทศ 2 นายกฯ ให้ได้ยินกันแล้ว

บางคนก็ว่าการกลับมาของทักษิณ น่าจะส่งผลให้มีการปรับ ครม. ขณะที่บางคนคาดการณ์ไปไกลว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

การปรับครม.นั้น ถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องปกติของรัฐบาลเมื่อทำงานผ่าน 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยดูจากเกณฑ์ผลงานรัฐมนตรีแต่ละคนเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ เท่าใดนัก

หากจะเกี่ยวก็ตรงที่นักการเมืองรุ่นเก่าที่เคยสนิทกับทักษิณ อาจสบโอกาสอาศัยบารมี ขอเข้ามามีตัวตนในรัฐบาล หลังอยู่นอกสายตาพรรคมานาน

ส่วนประเด็นเปลี่ยนตัวนายกฯ นั้น เป็นเรื่องพูดง่าย แต่ทำยาก เพราะต้องเริ่มจากการที่นายกฯ ลาออก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทั้งคณะสิ้นสภาพตามไปด้วย

สิ่งที่ตามมาคือความวุ่นวาย อย่างแรกคือ ที่ประชุมรัฐสภาต้องโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่

พรรคเพื่อไทยต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนกันอีกรอบ แข่งกับแคนดิเดตจากพรรคอื่น อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล เป็นต้น

โดยไม่มีใครรู้ว่า สส. 314 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน จะกลับมาเต็มจำนวนหรือไม่

หรือต่อให้กลับมาครบทั้งพรรคทั้งคน แต่การฟอร์มรัฐบาลขึ้นใหม่จะเกิดการเคลื่อนไหวต่อรองกันขนานใหญ่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน และถึงอย่างไรเพื่อไทยก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว

ดังนั้น การเปลี่ยนตัวนายกฯ คงเป็นไปได้ยาก เพราะอาจส่งแรงสะเทือนทำให้หมากเกมการเมืองเปลี่ยนไปทั้งกระดาน

สถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนั้น เชื่อว่าทักษิณเอง ก็คงไม่มั่นใจเช่นกัน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน