มหากาพย์จุฬาฯ ขอคืนที่ดินจากอุเทนถวายปะทุอีกครั้ง เมื่อนักศึกษาและศิษย์เก่าอุเทนถวายรวมตัวแบ่งสายดาวกระจายไปยื่นร้องเรียน 3 แห่ง

ประกาศจุดยืน “ไม่ย้ายออกจากที่เดิม”

ความเป็นมาของที่ดินแห่งนี้ ระยะเริ่มแรกสถาปนา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าเกือบ 1 ล้านบาทให้เป็นกองทุนสำหรับใช้ปลูกสร้างอาคารเรียน

พร้อมกำหนดให้ที่ดินในตำบลปทุมวัน จำนวน 1,309 ไร่ ซึ่งอยู่ในความดูแลของพระคลังข้างที่ เป็นอาณาเขตมหาวิทยาลัย แต่ยังมิได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ให้อย่างเด็ดขาด

ต่อมา พ.ศ.2482 พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม นายกฯ ได้ออกกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ตามรายละเอียดใน “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนครให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482”

ทำให้ได้รับกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์

ปัจจุบันมีพื้นที่ 1,153 ไร่ เป็นพื้นที่การศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่พาณิชย์ 374 ไร่

ต่อมา จุฬาฯ ขอคืนที่ดินจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายขอเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546 และหมดสัญญาลง

เจรจามาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล รวมทั้งประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้ด้วย

ปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ปี 2548 อุเทนถวายทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่ก็ยังติดขัดและเป็นไปอย่างล่าช้า

ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดตั้ง “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.)”

ระหว่างนั้น สโมสรนักศึกษาอุเทนถวายทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง ขอไม่ให้ย้ายออกจากพื้นที่เดิม ผลการฎีกาสำนักราชเลขาธิการมีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของกยพ.

ปี 2556 อุเทนถวายยื่นหนังสือชี้แจงกรรมสิทธิ์ที่ดินถึงจุฬาฯ พร้อมหลักฐานอ้างอิงตามประวัติศาสตร์โดยนัดรวมตัวกว่า 1 พันคนเดินขบวนไปทวงสัญญา

กระทั่งเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง แต่ปัญหายังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

กระนั้นก็ตามผลจากคำตัดสินของศาล คงทำให้ข้อเรียกร้องของฝ่ายอุเทนฯ เดินต่อไปได้ยาก

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน