ผลประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะประธาน กมธ. เผยว่า กมธ.มีมติเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลในการประชุมครั้งหน้า 14 มี.ค. ส่วนใหญ่เป็นบุคคลมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เพื่อขอทราบรายละเอียดในแต่ละเหตุการณ์ รวมถึงคดีความ

ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช., นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส., น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ น้องมายด์ อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชน, นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และไอลอว์ เพื่อขอความเห็นในแต่ละเหตุการณ์มาประกอบการพิจารณา

ทั้งยังได้ข้อยุติชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะนับรวมเหตุการณ์ครอบคลุม “ทุกสีเสื้อ” ตั้งแต่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบัน

โดยจะดูการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อหา “เหตุจูงใจ” ทางการเมือง โดยมอบให้นายนิกร จำนง เลขาธิการ กมธ. ไปรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะพิจารณาในการประชุมสัปดาห์ถัดไปต่อจากการเข้าชี้แจงของกลุ่มการเมือง

นายนิกร ในฐานะประธานอนุ กมธ.พิจารณาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง เผยว่า ขณะนี้ข้อมูลที่อนุ กมธ.มีราว 50,000 คดี รวมถึงคดีที่เกิดหลังปี 2563

โดย ประธานกมธ.ลงนามส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลทหาร ให้ส่งข้อมูลมาเพื่อประกอบกับข้อมูลที่ กมธ.มีอยู่

ทั้งนี้ อนุ กมธ.จะรวบรวมคดีที่มีมูลเหตุจาก “แรงจูงใจทางการเมือง” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในหลายกรรมาธิการและหลายประเทศ ต้องดูกรอบว่ามีแรงจูงใจอย่างไร เช่น ช่วงกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างหนึ่ง ช่วงกปปส.ก็มีแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ต้องดูแต่ละเหตุการณ์เพื่อหาข้อสรุปชุดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พิจารณาว่ากรณีใดไม่เข้าข่าย เราดูคดีมาก่อน คำนิยามที่ต้องหาคือ มูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

สำหรับคดีมาตรา 112 ที่สังคมจับจ้องว่าจะได้รับอานิสงส์ ด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ กมธ.ยังไม่พิจารณา

ซึ่งหลายฝ่ายเข้าใจว่าเพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน กมธ.จึงต้องแขวนพิจารณาไว้ก่อน เพื่อฟังเสียงอย่างครบถ้วน ไม่ให้กฎหมายนิรโทษกรรมกลายเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่เสียเอง

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน