รู้จักลมงวง หลากหลายรูปแบบ (2)
คอลัมน์ : Weather Wisdom บัญชา ธนบุญสมบัติ

บทความก่อนหน้านี้ คุณผู้อ่านได้รู้จักลมงวง 4 รูปแบบซึ่งชื่อฝรั่งลงท้ายด้วยคำว่า “ดีวิล (devil)” กันไปแล้ว ได้แก่ ดัสต์ดีวิล (dust devil) ไฟร์ดีวิล (fire devil) สตีม ดีวิล (steam devil) และ สโนว์ดีวิล (snow devil)

อ่านบทความเดิมได้ที่ : ลมงวง มีทั้งฝุ่น ทั้งไฟ ทั้งหิมะ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

คราวนี้มาดูลมงวง หรือพายุงวงรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมกันครับ

เมฆฝนฟ้าคะนองจะมีกระแสอากาศเย็นพุ่งลงปะทะพื้นเกิดเป็นลมกระโชก (gust wind) หากลมกระโชกพัดเร็วกว่า 60 น็อต (ประมาณ 111 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ก็อาจทำให้อากาศหมุนวนในแนวดิ่งดังภาพที่ 5 เรียกว่า gustnado (กัสต์นาโด) โดยเกิดในบริเวณที่ลมกระโชกปะทะกับอากาศที่อุ่นกว่าโดยรอบ

ภาพที่ 5: กัสต์นาโด
3 เมษายน ค.ศ.2011 รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Jefferson County Emergency Management

ชมคลิป What is a Gustnado? แสดงกัสต์นาโดและกลไกการเกิดได้ที่ (ช่วงเวลา 0:00-1:30 นาที)

คราวนี้มาดูพายุงวงที่มีพลังทำลายล้างสูงสุดกันบ้าง พายุแบบนี้เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์ (supercell) ซึ่งเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีกระแสอากาศภายในหมุนวนในแนวดิ่ง (อากาศที่หมุนวนในแนวดิ่งนี้ เรียกว่า เมโซไซโคลน) พายุงวงนี้จึงเรียกว่า supercell tornado (ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์) ดูภาพที่ 6 ครับ

ภาพที่ 6: ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์
3 พฤษภาคม ค.ศ.1999 รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Daphne Zaras

ชมคลิป TOP 10 BEST TORNADOES ได้ที่

ในบ้านเรายังไม่หลักฐานว่ามีเมฆซูเปอร์เซลล์ แต่เรามี “พายุงวงช้าง” หากพายุงวงช้างเกิดเหนือพื้นน้ำ เช่น ทะเลหรือทะเลสาบ จะเรียกว่า waterspout ภาษาไทยเรียกว่า นาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ น่าสังเกตว่าด้านบนของนาคเล่นน้ำจะมีเมฆก้อนขนาดใหญ่เสมอ ดูภาพที่ 7 ครับ

รู้จักลมงวง

ภาพที่ 7: นาคเล่นน้ำ
29 ตุลาคม 2557 จ.กระบี่
ภาพ: อรรณพ หอมกมล

ชมคลิป SYDNEY WATERSPOUT LIVE – 7 NEWS แสดงนาคเล่นน้ำที่ออสเตรเลียได้ที่

แต่หากพายุงวงช้างเกิดเหนือพื้นดินอย่างภาพที่ 8 ก็จะเรียกว่า landspout หรือ แลนด์สเปาต์ ด้านบนของแลนด์สเปาต์จะมีเมฆก้อนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับนาคเล่นน้ำ

ภาพที่ 8: แลนด์สเปาต์
22 พฤษภาคม ค.ศ.2004 รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา

ชมคลิป Dangerous landspout churns up the ground in Alberta แสดงแลนด์สเปาต์ได้ที่

 

ชมคลิปอธิบายความแตกต่างระหว่างแลนด์สเปาต์กับทอร์นาโดที่เกิดจากซูเปอร์เซลล์ได้ที่

ได้รู้จักลมงวงหรือพายุงวงกันไปหลายแบบแล้ว คราวหน้าหากได้เห็นของจริง หรือในข่าว ก็เชื่อว่าจะเรียกชื่อได้อย่างถูกต้องนะครับ :-D

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

แนะนำแหล่งข้อมูล คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ติดต่อ สนพ.สารคดี


โทร: 02-547-2700 ต่อ 111, 116
อีเมล: [email protected]
line id : 0815835040

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน