คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ฉบับเมื่อวันที่ (23 พ.ค.) “บูเกต์” ถามถึง 7 ดาวเคราะห์ที่พบใหม่ซึ่งรวมอยู่ในชื่อ แทรปพิสต์-1 เมื่อวานไล่เรียงตามลำดับไปแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อถึงลักษณะเฉพาะของแทรปพิสต์-1 โดยคำตอบนำมาจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/news/1065/

ข้อมูลจากสปิตเซอร์ให้ข้อมูลทั้งมวลและขนาดของดาวเคราะห์แต่ละดวง (ยกเว้นดวงที่ 7) จึงทราบความหนาแน่นของดาวเคราะห์ด้วย ซึ่งแสดงว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดน่าจะเป็นดาวเคราะห์หินเช่นเดียวกับโลก

ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ที่ยังวัดมวลไม่ได้ นักดาราศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็ง อย่างไรก็ตามต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมต่อไปจึงจะยืนยันได้

หลังจากการประกาศการค้นพบในเดือนพฤษภาคม นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสำรวจติดตามระบบสุริยะนี้ด้วย โดยมุ่งเป้าไปที่ดาวเคราะห์ 4 ดวง เพื่อค้นหาร่องรอยของบรรยากาศไฮโดรเจนและฮีเลียมซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของดาวเคราะห์แก๊สประเภทดาวเนปจูน

จนถึงขณะนี้ฮับเบิลยืนยันได้แน่นอนแล้วว่าดาวเคราะห์ 2 ดวง ไม่พบร่องรอยของแก๊สไฮโดรเจน นี่เป็นหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ 2 ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หิน

ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดดวงของแทรปพิสต์-1 โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มาก แม้แต่ดวงที่เจ็ดที่อยู่ห่างที่สุดก็ยังมีวงโคจรเล็กกว่าของดาวพุธ การที่เป็นระบบสุริยะขนาดกะทัดรัด ดาวเคราะห์แต่ละดวงจึงอยู่ใกล้กันมาก หากมีใครไปยืนอยู่ที่ดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่งในระบบสุริยะนี้ เขาก็จะมองเห็นดาวเคราะห์ดวงถัดกันเป็นดวงกลมโตที่มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลก สังเกตเห็นรายละเอียดต่างๆ บนพื้นผิวหรือแม้แต่เมฆบนดาวเคราะห์ดวงนั้นได้เลยทีเดียว








Advertisement

ลักษณะเด่นของระบบสุริยะของดาวแทรปพิสต์-1 อีกอย่างก็คือ ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดดวงนี้อาจถูกตรึงโดยความโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ หมายความว่าทั้งหมดจะหันด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ตลอดเวลา ทำนองเดียวกับที่ดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา

ผลของปรากฏการณ์นี้ทำให้ดาวเคราะห์มีด้านใดด้านหนึ่งเป็นกลางวันตลอดกาล และด้านตรงข้ามก็เป็นกลางคืนชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้รูปแบบของสภาพลมฟ้าอากาศบนดาวเคราะห์เหล่านี้ย่อมแตกต่างจากบนโลกอย่างสิ้นเชิง

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย มีกาแอล ฌียง (Michael Gillon) แห่งสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์และธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยลีแยฌ ประเทศเบลเยียม ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสำหรับตรวจจับการผ่านหน้าของดาวเคราะห์และดาวเคราะห์แรกเริ่ม (TRAPPIST) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาวลาซียาในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี เพื่อสังเกตดาวฤกษ์และค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์นี้

เทคนิคที่ใช้ค้นหาคือการตรวจสอบการเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ ทำให้พวกเขาค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกจำนวน 3 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์แคระแดงดวงนี้

ดาวเคราะห์ชั้นในสุด 2 ดวงอยู่ใต้ภาวะไทดัลล็อกกับดาวฤกษ์แม่ คือจะหันหน้าเพียงด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์แม่ตลอดเวลา ส่วนอีกหนึ่งดวงอยู่ในเขตอาศัยได้ ทีมนักดาราศาสตร์เฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม ค.ศ.2015 และเผยแพร่การค้นพบของพวกเขาในวารสาร Nature ในเดือนพฤษภาคม 2016

และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017 นักดาราศาสตร์ประกาศเพิ่มเติมว่าค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบเพิ่มในระบบแทรปพิสต์-1 อีก 4 ดวง ทำให้จำนวนดาวเคราะห์ที่โคจรในระบบนี้ มีทั้งสิ้นถึง 7 ดวง ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 ดวงที่โคจรอยู่ในเขตอาศัยได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน