ธรรมชาติเสริมภูมิเอกิ ซินโคเนน จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ วิจัยความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเด็กๆ ก่อนวัยเรียนอายุระหว่าง 3-5 ขวบ

งานวิจัยนี้ใช้วิธีปรับปรุงลานกิจกรรมของเนิร์สเซอรี่ 4 แห่ง จากผนังคอนกรีต พื้นถมด้วยทรายและกรวด เปลี่ยนเป็นใช้วัสดุไม้ธรรมชาติ ปูสนามหญ้า ปลูกพุ่มไม้ขนาดเล็ก และพืชในกระถาง ให้เด็กๆ เล่นในลานกิจกรรมใหม่ทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง เป็นเวลานาน 28 วัน

จากนั้นเจ้าหน้าที่สลับตัวอย่างผิวหนัง รวมทั้งตัวอย่างเลือดและอุจจาระของเด็กๆ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับผลก่อนเริ่มงานวิจัย รวมทั้งนำไปเทียบกับผลตรวจวิเคราะห์ของเด็กๆ จากเนิร์สเซอรี่ 3 แห่งที่ใช้ลานกิจกรรมคอนกรีตตามปกติ และอีก 3 แห่งที่พาเด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าใกล้โรงเรียนเป็นประจำทุกวัน

ปรากฏว่าเด็กๆ จากเนิร์สเซอรี่ที่ผ่านการปรับลานกิจกรรมให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น มีระดับสารไซโตไคน์ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยรักษาการอักเสบ การติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย มากพอๆ กับเด็กอีกกลุ่มที่ทำกิจกรรมในป่าจริงเป็นประจำ ส่วนเด็กๆ ที่วิ่งเล่นในลานกิจกรรมคอนกรีตตรวจไม่พบการเพิ่มขึ้นของสาร ไซโตไคน์ หนำซ้ำยังมีปริมาณไมโครไบโอตาหรือชุมชนจุลชีพในร่างกายลดลงอีกด้วย

การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กๆ ได้ใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติ และสัมผัสกับ สิ่งแวดล้อมรอบตัว กระตุ้นและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ลานกิจกรรมคอนกรีตจะอยู่ในที่โล่งมีแสงแดดและอากาศปลอดโปร่ง แต่ก็ไม่เท่าการสัมผัสกับความหลากหลายของธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายรู้จักกับสิ่งแวดล้อม รับมือและสร้างเกราะป้องกันอาการภูมิแพ้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน