บีบีซีรายงานว่า คณะวิศวกรซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของบริษัท เฟซบุ๊ก บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อก้องโลก เผยแพร่ข้อมูลความสำเร็จในการคิดค้นหน่วยใหม่ของเวลา เรียกว่า ฟลิก (flick) วึ่งเป็นหน่วยเวลาที่มีความละเอียดสูง เพื่อช่วยให้บรรดาผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถรวมภาพเข้ากับเทคนิคพิเศษหรือเอฟเฟ็กต์ได้สะดวกขึ้น

คณะวิศวกรเฟซบุ๊กนำข้อมูลดักล่าวซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบเปิด (open-source) มาเผยแพร่ให้กับประชาคมโลกนำไปใช้พัฒนาต่อได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

รายงานระบุว่า 1 ฟลิก มีค่าเท่ากับ 1/705600000 วินาที ซึ่งเป็นหน่วยเวลาใหม่ที่มีความละเอียดมากกว่า “นาโนวินาที”

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ กล่าวว่า หน่วยฟลิกนั้นจะไม่เห็นผลชัดเจนในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่จะมีคุณูปการอย่างสูงต่อการสร้างสื่อประเภทเวอร์ชวล เรียลิตี้ หรือวีอาร์ ซึ่งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมใหม่รอบตัวผู้ใช้

แม็ตต์ แฮมมอนด์ นักวิจัยจากแผนกวิจัยและพัฒนาของสำนักข่าวบีบีซี กล่าวว่า หน่วยฟลิกนั้นจะทำให้การเชื่อมต่อ (Sync) ระหว่างภาพกับเสียงและเทคนิคพิเศษ มีความผิดพลาดน้อยลง เพราะเวลามีความละเอียดขึ้นในระหว่างเฟรมของภาพ จากเดิมที่นักพัฒนามีหน่วยเวลาระหว่างเฟรมเป็นเสี้ยววินาทีที่ไม่มีความละเอียดเท่าฟลิก ซึ่งจุดนี้หากเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะสะสมไปเรื่อยๆ และทำให้ผู้เสพสื่อพบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่ปรากฏชัดเจน

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ใช่การคิดค้นหน่วยเวลาใหม่ครั้งแรกโดยธุรกิจเอกชน ตัวอย่างดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2541 บริษัท สว็อตช์ ผู้พัฒนานาฬิกาชื่อดังจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เคยนำเสนอหน่วยเวลาใหม่ “ด็อต บีตส์” (.beats)

โดยหนึ่งวันมีค่าเท่ากับ 1,000 บีต และ 1 บีต มีค่าเท่ากับ 1 นาที 26.4 วินาที เพื่อตัดปัญหาการต้องใช้ไทม์โซนในอินเตอร์เน็ต เรียกว่า เวลาอินเตอร์เน็ต (Internet Time) แต่ไม่ได้รับความนิยม








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน