ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center – MTEC) สวทช. เอ็มเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เชิญชวนเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และสื่อในเครือมติชน เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรม

หลาก&หลาย

คณะผู้บริหารสื่อเครือมติชน และทีมงานวิจัย MTEC

หลาก&หลาย

ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์

โดยมี ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ MTEC ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการ MTEC ให้การต้อนรับ

เอ็มเทค โหมโรงโดย ดร.เติมศักดิ์ และ ดร.อศิรา นำเสนอทิศทางการขับเคลื่อน 4 กลุ่มงานวิจัยหลัก ได้แก่

หนึ่ง การขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีวัสดุ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สอง นวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ สาม การพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุและการออกแบบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่ง และสี่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพสู่ผลิตภัณฑ์สมบัติเฉพาะที่มีมูลค่าสูง

ตามด้วย 4 ทีมวิจัย นำเสนองานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีวัสดุ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ก่อนจะนำเครือมติชนเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรม 3 โชว์เคส ที่ปรากฏเป็นต้นแบบ พร้อมผลักดันออกสู่ตลาดเพื่อการใช้งานจริง ประกอบด้วย

หนึ่ง “Wearable Technology Consulting Service” โดยเอ็มเทค สอง เทคโนโลยีระบบจำลองการย่อยอาหาร โดย เอ็มเทค และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสาม เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)

“Wearable Technology Consulting Service” นวัตกรรมแรก ที่ได้เยี่ยมชม คือ เทคโนโลยีชุดบอดีสูท “เรเชล” Rachel

หลาก&หลาย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ

หลาก&หลาย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิง วิศวกรรมและการคำนวณ MTEC กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้พัฒนาชุดบอดีสูท เพื่อตอบโจทย์สังคมอายุยืนหรือสังคมสูงวัย

เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยให้ผู้สูงอายุสวมใส่บอดีสูท “เรเชล” ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ ประกอบอาชีพ เล่นกีฬา หรือดำเนินชีวิตได้ เพราะการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ นั้นเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พลัดตกหกล้ม

ล่าสุด MTEC ร่วมกับบริษัทไทยวาโก้ พัฒนาต่อยอดชุดดังกล่าวให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งวัน ใส่สบาย ระบายเหงื่อ เหมาะกับสภาพอากาศของไทย

หลาก&หลาย

หลาก&หลาย

บอดีสูทตัวที่ 2 ที่ดร.ศราวุธ แนะนำ คือ Ross รอส บอดีสูทพยุงหลัง เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ดูแล พยาบาล เวรเปล หรือบุคคลทั่วไป ที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ต้องยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วย พลิกตัวผู้ป่วยประคองผู้ป่วย เป็นชุดที่ช่วยลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว ลดการบาดเจ็บที่หลัง

รอสและเรเชลเป็นสองชุดที่พัฒนาขึ้นมา บวกกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ เพื่อให้ใส่ไปกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ปกติในชีวิตประจำวันได้

เป็นการเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้สวมใส่ทั้งวัน ทั้งการ เดิน นั่ง ยืน นอน สามารถดูได้ว่าระหว่างวัน ผู้สวมใส่นั่งติดที่ติดเตียงเกินไปหรือไม่ มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสมหรือไม่ อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือน

อีกนวัตกรรม ที่ดร.ศราวุธ นำเสนอ และให้เครือมติชน ทดสอบ คือ แผ่นเจลยางพารา เป็นเบาะรองนั่งซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ลดอาการแผลกดทับได้ โดยช่วยกระจายน้ำหนักผู้นั่ง หรือแบบยืนจะช่วยกระจายน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม

ด้วยกระบวนการผลิตที่ปลอดสารเคมี ลดโอกาสการแพ้สารเคมีของผู้ใช้งาน ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้คือ การทำงานกับผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุน ให้สินค้าออกมาในราคาสามารถจับต้องได้ ก่อนเปิดตัวออกสู่ตลาดภายในปีนี้

โครงการวิจัยต่อมา “เทคโนโลยีระบบจำลองการย่อยอาหาร” โดย ดร.กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัย ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร MTEC และ ดร.มณชยา รัตนประเสริฐ ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ซึ่งทางเอ็มเทค มีเครื่องทดสอบการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร

หลาก&หลาย

ดร.กมลวรรณ อิศราคาร

หลาก&หลาย

แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ tiny-TIMg จำลองสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในกระเพาะอาหารต่อเนื่องไปถึงลำไส้เล็ก โดยสามารถจำลองการย่อยอาหารได้ทั้งคนทุกช่วงอายุ และสุนัข แมว หมู หรือสัตว์กระเพาะเดี่ยว ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความก้าวหน้ามากในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วน Tim-2 จำลองสภาวะในลำไส้ใหญ่ อาทิ ชุมชนจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเครื่องทดสอบทั้ง 2 เครื่อง จะช่วยในเรื่องการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารและยา เช่น ประเมินศักยภาพของพรีไบโอติก ดูว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการย่อย หรือร่างกายจะสามารถดูดซึมสารอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ มากน้อยเพียงใด

เครื่องทดสอบดังกล่าวมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยทดสอบอาหารและยาที่ประชาชนต้องนำเข้าร่างกาย ซึ่งมีหลายกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะยาและผลิตภัณฑ์อาหาร ได้นำผลิตภัณฑ์มาทดสอบ วิจัย ก่อนให้ประชาชนบริโภค

สุดท้าย ทีมคณะผู้บริหารเครือมติชนได้เข้าเยี่ยมชม “เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน” โดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ

หลาก&หลาย

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล

ดร.พิมพากล่าวว่า ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้มากในปัจจุบันคือ แบตเตอรี่ อันเป็นผลมาจากยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เติบโตกว่า 600% ดังนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของผู้ใช้ยานยนต์สมัยใหม่

หลาก&หลาย

หลาก&หลาย

“เราไปสู่สังคมไร้คาร์บอนในอนาคต ระบบพลังงานสะอาดจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ต้องผลักดัน เช่น ปี 2030 ใน 30% ของประเทศต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เป้าเหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนจากกระทรวงต่างๆ ของรัฐ ดังนั้น เอ็มเทค จึงมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมการกักเก็บพลังงาน โดยดำเนินงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ระบบและวัสดุกักเก็บพลังงานความหนาแน่นสูง ตัวเก็บประจุยิ่งยวด การกักเก็บไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง และการกักเก็บเชิงอุณหภาพ” ดร.พิมพากล่าว

ดร.พิมพากล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตมนุษย์ต้องการอากาศสะอาด โลกที่ไม่ร้อนขึ้น มีไลฟ์สไตล์ต้องการตัวช่วยให้ใช้พลังงานได้ลดต่ำลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง มีนวัตกรรมที่ทำให้สามารถนำของที่จะต้องทิ้งแล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้ชีวิตในแบบที่คาดไว้ได้มากขึ้น

งานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ของเอ็มเทค เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมในอนาคตทั้งสิ้น ทั้งสังคมผู้สูงอายุ การใช้พลังงานเพื่อโลกที่สะอาดขึ้น ขณะนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนติดต่อเข้าร่วมพัฒนางานวิจัย

โดยเอ็มเทคยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่ออนาคต นำหน้าเทรนด์ที่เกิดขึ้นไปหนึ่งก้าว เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน และจะมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน