เสาหลักเมือง – เสาหลักเมือง เสาอินทขีล เสาสะดือเมือง ในความหมายทางภูมิทัศน์ของเมืองก็คือเครื่องหมายศูนย์กลางเมือง ของชุมชนในพื้นที่สุวรรณภูมิ

มีลักษณะเป็นท่อนไม้หรือท่อนหินที่ปักไว้เป็นบริเวณลาน กว้างๆ ที่บอกว่า ณ ที่นี้คือ ศูนย์กลางของชุมชนหรือของบ้านเมืองในอดีต และค่อยๆ เพิ่มสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์เพื่อรวมศูนย์แห่งจิตใจของผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มคนเมืองเดียวกัน ร่วมชาติพันธุ์เดียวกัน

แม้มีความเชื่อว่าการตั้งหลักเมืองหรือเสาหลักเมืองนี้มีอิทธิพลมาจากอินเดีย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานของเรื่องเสาหลักเมืองในอินเดีย แม้แต่เสาหลักที่มีชื่อว่า ปฤถวีสดัม ที่ตั้งอยู่ที่เมืองกุดัมมีนาร์ อินเดีย คาดว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 ก็ไม่น่าจะนับว่าเป็นเสาหลักเมือง เพราะมีลักษณะเหมือนเสาโอเบลิสที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากกว่า

เดิมทีเสาหลักเมืองอันเป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางเมืองได้เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นก็น่าจะมาจากความเชื่อในศาสนาผีหรือการฝากความหวังไว้กับผีบรรพบุรุษหรือเทพยดาต่างๆ แม้ภายหลังพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพล ต่อความเชื่อในดินแดนสุวรรณภูมิ เข้ามาก็ประสานกันเข้ากับศาสนาผี

ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมก็เป็นศาลาไม้โปร่งที่ชำรุดทรุดโทรมลง จนเมื่อรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แล้วตั้งศาลเทพารักษ์หรือเทวดารักษาเมืองขึ้น 5 องค์ มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาเมือง ดูแลบ้านเมืองให้มีความสุขความเจริญขึ้นแก่ผู้คนในเมือง ได้แก่

พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันบ้านเมืองทั้งทางบกทางน้ำ รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากศัตรูมารุกราน

พระทรงเมือง มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองภัยทั้งเมือง

พระกาฬไชยศรี เป็นเครื่องหมายของการเตือนสติของมนุษย์ให้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เว้นจากการกระทำที่ชั่วร้าย

เจ้าเจตคุปต์ ผู้มีหน้าที่บันทึกการกระทำของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลก เพื่อให้พระยมตัดสินโทษเมื่อมนุษย์นั้นตายลง (เหมือนอัยการโลก)

เจ้าหอกลอง ผู้ดูแลและแจ้งเหตุของสัญญาณอันตรายที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

หลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมีฐานะเป็นศาลหลักเมือง

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน