คอลัมน์ มงคลข่าวสด

‘พระพรหมวชิรญาณ’ พระฝรั่ง-พระสุเมโธ – เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระเทพญาณวิเทศ (โรเบิร์ต สุเมโธ) ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง

มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรญาณ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ วิจิตรธรรมปฏิภาณ วิปัสสนาญาณวงศ วิสิฐ ราชมานิตวชิราลงกรณ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดอมราวดี สหราชอาณาจักร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

พระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ) หรือ พระอาจารย์สุเมโธ เป็นพระเถระสายพระป่า เป็นศิษย์ชาวตะวันตกรูปแรกของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

ปัจจุบัน สิริอายุ 86 ปี พรรษา 53

มีนามเดิม โรเบิร์ต แจ็คแมน เกิดในเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ.1934 (พ.ศ.2477)

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และเข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี








Advertisement

เมื่อออกจากราชการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาเอเชียใต้ศึกษา (South Asian Studies) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) ในปี 1963 (พ.ศ.2506)

หลังจากนั้น ร่วมงานเป็นระยะเวลาสั้นกับสภากาชาดอเมริกัน มีโอกาสเดินทางไปยังแถบตะวันออกไกล และทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษกับหน่วยสันติภาพ (Peace Corp) ซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว

ด้วยความที่ท่านสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยในปีพ.ศ.2509 เพื่อหาทางเข้าสู่ชีวิตอนาคาริก (ผู้ไม่ครองเรือน) ท่านบรรพชาเป็นสามเณรที่จังหวัดหนองคาย

พ.ศ.2510 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีพระราชปรีชาญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดหนองคายในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาได้ยินกิตติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า…

“ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตร เหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ”

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่วัดหนองป่าพง พระอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ

ระเบียบการปฏิบัติธรรมของวัดหนองป่าพงเป็นที่รู้กันว่าเข้มงวดและเคร่งครัด โดยเน้นที่ความ เรียบง่ายและเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย

พระอาจารย์สุเมโธฝึกปฏิบัติตามแนวของหลวงปู่ชาเป็นเวลาถึง 10 ปี จึงได้รับนิมนต์จากมูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษ (The English Sangha Trust) ให้เดินทางไปอยู่ที่ลอนดอน ร่วมกับคณะศิษย์ของหลวงปู่ชาอีก 3 รูป

สำหรับมูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษมีจุดมุ่งหมายจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฝึกพระภิกษุในประเทศตะวันตก โดยมีสำนักสงฆ์บ้านแฮมสเตด (The Hampstead Buddhist Vihara) เมืองลอนดอน เป็นจุดเริ่มต้น

แต่คณะสงฆ์เห็นข้อดีของการมีสิ่งแวดล้อมที่สงบกว่า เช่น บรรยากาศในชนบท จึงพยายามตั้งวัดป่าขึ้นในประเทศอังกฤษ และสร้างเสร็จในปีค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) โดยดัดแปลงบ้านที่ ทรุดโทรมหลังหนึ่งในเวสต์ซัสเซ็กซ์ ในเวลาต่อมาสถานที่นี้จึงเป็นวัดป่าจิตตวิเวก (Cittaviveka)

ในช่วงเวลาไม่นาน คณะสงฆ์เริ่มเติบโต มีจำนวนพระภิกษุเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ต้องก่อตั้งวัดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งทั้งในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งศูนย์กลางการสอนปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ขึ้นที่วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Monastery) ในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2527)

ต่อมาเป็นสถานที่ที่พำนักอยู่เป็นส่วนใหญ่

ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 5 ธ.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระสุเมธาจารย์

วันที่ 12 ส.ค.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชสุเมธาจารย์

วันที่ 28 ก.ค.2562 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพญาณวิเทศ

ล่าสุด พ.ศ.2563 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพรหมวชิรญาณ

เป็นพระฝรั่งผู้ดำรงสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน