เปิดลงทะเบียนปลายมค.
สปีดเร็วเน็ตบ้านมือถือ
ลดค่าน้ำไฟ-สู้ภัยโควิด

เคาะแล้วเยียวยาประชาชนที่ได้รับผล กระทบโควิดรอบสอง ครม.อนุมัติเปิดลงทะเบียนคนละครึ่งเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ พร้อมลดค่าไฟ-ค่าน้ำประปา เพิ่มความเร็วความแรงเน็ตบ้าน-มือถือรวม 2 เดือน เปิดโอกาสคนจบใหม่ว่างงาน เปิดลงทะเบียนรับเงิน 3,500 บาท นาน 2 เดือน ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com พร้อมกันวันที่ 20 ม.ค.นี้ แจกเงินก้อนแรกไม่เกินสัปดาห์แรกเดือน กุมภาฯ ด้านกระทรวงคลังเผยกลุ่มไหนได้เยียวยา-กลุ่มไหนชวด

เยียวยาระลอก 2-ลดค่าไฟ 2 ด.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ตนได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมาตรการเศรษฐกิจที่จะช่วยบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีมาตรการลด ค่าใช้จ่ายประชาชน โดยตัดสินใจร่วมกับครม.ให้ลดค่าไฟฟ้าในระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้เดือนก.พ.และมี.ค. 2564 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก แต่หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนก็จะมีส่วนลดค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่กำหนด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก และลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือนก.พ.และมี.ค. 2564 สำหรับค่าอินเตอร์เน็ต โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช.และผู้ประกอบการ โดยมีมติให้เพิ่มความเร็วและความแรงของเน็ตบ้านและมือถือพร้อมลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้บริการได้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเวิร์ก ฟรอม โฮม และให้ประชาชนสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะฟรี ไม่คิดค่าดาต้าระยะเวลา 3 เดือน

ผู้ได้รับผลกระทบ 3.5 พัน 2 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะที่โครงการคนละครึ่งจากการประเมินผลยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ จึงจะให้มีการเปิดลงทะเบียนเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ปลายเดือนม.ค.นี้ ขณะที่เรื่องอื่นๆ ตนมีนโยบายให้เยียวยารายได้กับผู้ได้รับผล กระทบทุกกลุ่มครอบคลุมเหมือนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร โดยเบื้องต้นให้ไปพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งให้กระทรวงการคลังเสนอครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยให้คำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ดังนั้น วันนี้จึงขอแค่ 2 เดือนก่อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ปัจจุบันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารของรัฐยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้าน โดยให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินและการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเร็ว เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อาจจะไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็บรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม เช่น การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน การเยียวยากรณีว่างงานให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องสำรองเงินไปก่อน เพราะมาตรการส่งเสริมการจ้างงานรักษาระดับการจ้างงาน โดยมอบหมายกระทรวงแรงงานไปแล้ว และการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงพิจารณามาตรการดูแลแรงงานนอกระบบประกันสังคมด้วย

จัดสอบกพ.เร็วขึ้น-แก้ว่างงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ การสอบราชการประจำปีได้ให้สำนักงาน ก.พ.มีการ จัดสอบให้เร็วขึ้นจากทุกครั้งเพื่อทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุไป และในส่วนของน้องๆ หลานๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีงานทำได้มีโอกาสมาสอบคัดเลือกในส่วนนี้ ซึ่งมีสองส่วนได้แก่ การสอบทั่วไปจำนวนหนึ่ง และอีกส่วนก็จะมีสัดส่วนในการสอบเฉพาะคุณสมบัติตามวิชาชีพ จึงขอให้ทุกคนเตรียมกันไว้ด้วย และให้รอฟังการประกาศจากสำนักงาน กพ.ต่อไปเมื่อมีความพร้อม ซึ่งตนคิดว่าหลายคนก็มีความคิดอยากเป็นข้าราชการอยู่ รวมถึงคนรุ่นใหม่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลผลักดันให้มีการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งตนเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และอีกเรื่องที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วคือการขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่านมาโดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% และยกเว้นการโอนค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเร่งเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกับครม.ต่อไป

ยันมีเงินเพียงพอดูแลเศรษฐกิจ

นายกฯ ระบุต่อด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกันนี้มีมติอนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ 1.มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน 2.มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ การว่างงาน ฯลฯ 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเตอร์เน็ต

อีกเรื่องที่ผมจะต้องขอย้ำคือ เรื่องที่รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เราใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ยังเหลือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ เรายังมีงบกลางของงบประมาณปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า

อนุมัติอีก 4.73 ร้อยล.-กักตัว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้กักกันตัว จำนวน 22,248 คน ในระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย 2563 วงเงิน 473,150,000 บาท ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากร ค่าเช่าที่พักกักกันตัว ค่าวัสดุการแพทย์ และยานพาหนะ เป็นต้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เบิกจ่ายในงบดำเนินงาน

ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันจัดสถานที่ พื้นที่สำหรับสังเกตอาการ เพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเป็นสถานที่ราชการ 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน 26 แห่ง เพื่อรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัว จำนวน 63,570 คน ตั้งแต่ 7 มี.ค-30 ก.ย.2563 ระยะที่ 1-ระยะที่ 4 โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ รวมวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,536,340,514 บาท

อนุมัติ 5.816 พันล.เพิ่มศักยภาพ

นายอนุชากล่าวว่า ครม.อนุมัติงบประมาณ วงเงินรวมไม่เกิน 5,816.3631 ล้านบาท จากเงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฉพาะส่วนรายการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่เน้นการรักษาพยาบาล ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย การคัดกรองวินิจฉัยผู้ป่วย การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโดยตรง แบ่งเป็น

1.ค่าสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 389.307 ล้านบาท และ 2.ค่าครุภัณฑ์ไม่เกิน 5,427.056 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง หอพักผู้ป่วยวิกฤต ปรับปรุงห้องแยกโรค การปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุง ARI Clinic และจัดสถานที่และระบบการบริการให้อยู่ภายใต้มาตรการการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ปรับปรุงห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ออกแบบพื้นที่ในการติดตามอาการที่ต้องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการ อาทิ แยกสัดส่วนงานบริการทันตกรรม ผ่าตัด ให้ปลอดภัยตามมาตรฐานขณะปฏิบัติหัตถการ

ส่วนการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตและให้ออกซิเจนสำหรับ ผู้ป่วย เครื่องส่องตรวจระบบทางเดินหายใจเพื่อเพิ่มความแม่นยำ และความปลอดภัยในการใส่ท่อช่วยหายใจ อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ PAPR เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบฟอกอากาศและกรองอากาศเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย อาทิ Isolation เครื่องตรวจสอบสารพันธุกรรม RT CPR เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรค เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแบบเทอโมสแกน ครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการของรายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุมกำกับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ วงเงินไม่เกิน 429.617 ล้านบาท โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ขอรับการจัดสรรแหล่งเงินเพื่อดำเนินการจากแหล่งเงินอื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

ชงคนละครึ่งอีก-1ล้านสิทธิ

วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คลังจะมีการมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 19 ม.ค.2564 โดยรายละเอียดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการเสริมสภาพคล่อง และลดภาระค่าใช้จ่ายดังนี้คือ

1.โครงการคนละครึ่ง เตรียมลงทะเบียนใหม่ 1 ล้านสิทธิ ปลายเดือนม.ค.2564 จากคนละครึ่งเฟส 1 มีสิทธิคงเหลือ 5 แสนสิทธิ และเฟส 2 ยังสำรวจจำนวนเบื้องต้นคาดว่าประมาณ 5 แสนสิทธิ เตรียมเสนอ ครม. อังคารที่ 19 ม.ค. โดยใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทะเบียนคาดว่าจะลงทะเบียนได้ในวันที่ 20 ม.ค. หลังครม.อนุมัติ และสามารถใช้ได้วันที่ 25 ม.ค.2564

2.มาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 โดยแจก 3,500 บาท/เดือน/คน ระยะเวลา 2 เดือน เสนอครม. สัปดาห์หน้าพร้อมกับคนละครึ่ง และใช้เงินได้ในสิ้นม.ค.หรือต้นก.พ.เป็นอย่างช้า เรื่องของการครอบคลุมทุกกลุ่มเพียงแต่ต้องลงทะเบียนผ่าน โครงการเราชนะ

ขยายเวลาสินเชื่อให้อาชีพอิสระ

3.การเสริมสภาพคล่องของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่งในการกับของกระทรวงการคลัง โดยครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงคลัง ขยายระยะเวลาสินเชื่อ 3 โครงการ

1.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก มีวงเงินคงเหลือ 7,500 ล้านบาทของธนาคารออมสิน เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการ หรืออื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หรือภัยอื่น ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 3 ปี เดิมหมดระยะเวลารับคำขอกู้ตั้งแต่ 30 ธ.ค.2563 ดังนั้นครม.จึงมีมติขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 ม.ย.2564

2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มีวงเงิน 11,400 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการชีพอิสระ คิดดอกเบี้ยคงที่ 0.1% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ครม.อนุมัติให้ขยายโครงการถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 และ 3.การขยายสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีวงเงินเหลือ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ในปี 1-2 สิ้นสุดโครงการไปแล้วขยายอายุออกไปถึง 30 มิ.ย.2564

ลงทะเบียน 1 ล้านสิทธิ์ปลายม.ค.

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังจะเร่งพิจารณามาตรการบรรเทาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือ เดือนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน โดยจะเสนอหลักการจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้พิจารณา ในวันที่ 19 ม.ค.2564

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมาลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่คลังเปิดไว้ กำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนม.ค. และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์จะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.2564 ครอบคลุม 2 เดือน

“ตัวเลขผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือทั้งหมด รวมทั้งหลักเกณฑ์การดำเนินการทั้งหมดยังไม่นิ่ง คลังต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน โดยจะสรุปเพื่อเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า โดยมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 3,500 บาท 2 เดือนนี้ จะแตกต่างจากโครงการคนละครึ่งที่ใครลงทะเบียนก่อนก็จะได้รับสิทธิ์ก่อน เพราะการให้เงินช่วยเหลือรอบนี้ไม่ต้องแย่งกัน ใครก็ตามที่เข้ามีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การคัดกรอง ก็จะได้รับสิทธิ์ทันที ใครที่ไม่ผ่านการคัดกรองก็จะถูกคัดออกไปทันที ซึ่งกระทรวงการคลังยอมรับว่าการคัดกรองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา แต่ก็จะพยายามคัดกรองให้ถูกต้องที่สุด เพราะที่ผ่านมามีเสียงบ่นว่าบางคนควรได้สิทธิ์ก็ไม่ได้ ขณะที่บางคนไม่ควรได้สิทธิ์ก็ได้” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ การเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตกอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 20 ม.ค. 2564 และสามารถใช้สิทธิ์ 3,500 บาทได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2564

เผยกลุ่มที่ไม่ได้เยียวยา 3.5 พัน

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ 3,500 บาท นาน 2 เดือน จากมาตรการไทยจะชนะ จะแตกต่างจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งคลังมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนแน่นอน เพราะเป็นการคิดจากฐานข้อมูลประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน และมาคัดกรองออกจนเหลือกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริงๆ (Negative List) ไม่ใช่เป็นการเปิดลงทะเบียนว่าใครได้รับผลกระทบ (Positive List) ซึ่งวิธีการนั้นส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ กลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการ กว่า 3 ล้านคน พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกัน ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งคลังจะมีเกณฑ์มาวัดว่ารายได้เท่าใด จึงจะไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท โดยพิจารณา บัญชีเงินฝาก รายได้เข้าออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ จะแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น “เราชนะ” เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิ์แล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ก็ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง และกลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย

อาชีพอิสระ-เกษตรกรอาจลงใหม่

“กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น” นายกฤษฎากล่าว

สำหรับเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ โดยจะแจกเงิน 2 เดือนคือ ก.พ.และมี.ค. ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยาก เหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีชุดคำถามเชิงลึก เพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้แจกเงินรอบนี้ อยู่ระหว่างสรุป แต่ยืนยันว่าจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังพอเพียง ไม่ต้องกู้เพิ่ม

คาดใช้งบ 2.1 แสนล้านบ.

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปจัดทำรายละเอียดโครงการเราชนะ ในเบื้องต้นคาดว่าจะมอบเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดหนักเท่านั้น รวมประมาณ 30 ล้านคน โดยจะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 210,000 ล้านบาท โดยยังไม่ต้องกู้เงินเพิ่มแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับครม.ในวันที่ 19 ม.ค.2564 ว่าจะพิจารณาอนุมัติวงเงินเยียวยานี้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน