พปชร.วุ่นบี้ป้อมทบทวน
เกลี่ยใหม่โควตารัฐมนตรี
สภาลุยโหวตรธน.วาระ3

พปชร.ยังวุ่น บี้ ‘บิ๊กป้อม’ ทบทวนแคนดิเดตรมต. เกลี่ยโควตาให้แต่ละกลุ่ม ส.ส.กทม.โต้ต่อรองเก้าอี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลุยเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรธน. วาระ 3 ที่ปรึกษา ‘ชวน’ ยัน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ทำรธน.ฉบับใหม่ จึงไม่ต้องทำประชามติ ‘ปริญญา’ ลั่นสภาต้องโหวตผ่านวาระ 3 ถึงจะเริ่มกระบวนการทำประชามติได้ ‘วิรัช’ นัดคุยวิปรัฐบาลเร่งหาทางออก ภูมิใจไทยย้ำจุดยืน ตั้งส.ส.ร.ยกร่างใหม่ ‘เทพไท’ ยุปชป.ถอนตัว หากพรรคแกนนำหักหลังไม่รับร่าง เพื่อไทยฉะส.ส.-ส.ว.ใช้ทฤษฎีสมคบคิด หวังยื้ออยู่ยาว ด้านส.ว.แนะรัฐสภา รอคำวินิจฉัยกลาง ก่อนโหวตวาระ 3 พ้อถูกมองเป็นผู้ร้ายจ้องคว่ำร่างรธน.

สภาเดินหน้าโหวตรธน.วาระ 3

วันที่ 14 มี.ค. นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่มีการนัดประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา ตัวแทนส.ส.ฝ่ายค้าน และตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อตกลงถึงกรอบการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 17 มี.ค.นี้ เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เนื่องจากนายชวน เคยให้สัมภาษณ์แล้วว่าจะเดินหน้าพิจารณาตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ดังนั้น วันที่ 17 มี.ค. ตามวาระคือการลงมติวาระ 3 ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ ส่วนจะมีผู้ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหารือนั้น เป็นสิทธิ์ที่ทำได้

“คณะทำงานพิจารณาด้านกฎหมายของประธานรัฐสภา ได้ทำความเห็นและสรุปว่าการลงมติในวาระ 3 นั้น ทำได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ คือการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ศาลรัฐ ธรรมนูญระบุว่าต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ดังนั้น รัฐสภาต้องยึดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากรัฐสภาไม่ลงมติ จะมีผู้ยื่นฟ้องร้องได้ ส่วนการลงมติจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ดุลพินิจของแต่ละบุคคล” นพ.สุกิจ กล่าว

ยันไม่มีการชะลอร่างแก้ไข

เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่ออำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภายังเห็นต่างกัน ในทางปฏิบัติจะมีการลงมติเพื่อตัดสินหรือไม่ นพ.สุกิจกล่าวว่า นายชวนเคยระบุว่าการประชุมต้องดำเนินการตามระเบียบวาระ ดังนั้น การลงมติที่จะเกิดขึ้นได้ในการประชุม คือ การลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ชะลอการลงมติวาระ 3 เพื่อรอคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในหลักการเสนอได้ แต่การปฏิบัติ ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญระบุว่า หลังผ่านวาระ 2 แล้วต้องทิ้งไว้ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติวาระ 3 และแม้จะครบ 15 วันในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่การนัดประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.เพราะเป็นความเห็นจากที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย

วิปรัฐบาลเร่งหาทางออก








Advertisement

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงแนวทางการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 17-18 มี.ค.ว่า เบื้องต้นยังไม่มีคำตอบ เพราะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน จึงขอดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจของแต่ละพรรค โดยวิปพรรคร่วมรัฐบาลได้นัดหารือกันในวันที่ 15 มี.ค. เมื่อได้แนวทางแล้ว แต่ละพรรคจะไปประชุมกัน ทั้งนี้ หากไปเอาตามกระแสหรือเอาตามสิ่งที่คนนั้นพูดคนนี้พูด มันไม่ได้ เราต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ยืนยันว่าไม่หนักใจ เพราะเป็นปัญหาหนึ่งที่เราต้องแก้ไขกัน เราต้องดูคำวินิจฉัยเป็นหลัก และรับฟังความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้วส่วนแนวทางจะออกมาอย่างไรค่อยว่ากัน

ธรรมนัสโยนที่ประชุมเคาะ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้า พปชร. ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคร่วมรัฐบาลประกาศลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และเรียกร้องให้พปชร.แสดงจุดยืนว่า เป็นหน้าที่ของ วิปรัฐบาล ที่มีนายวิรัช ประธานวิปรัฐบาล เป็นคนดูแล เราจะไม่ก้าวก่ายการทำงานกัน ซึ่งพปชร.จะประชุมในวันที่ 16 มี.ค. หากที่ประชุมเห็นอย่างไรก็ว่าตามนั้น

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นความขัดแย้งรอบใหม่ของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า อย่ามองไกลถึงขนาดนั้น ให้ประชุมพรรคก่อน เมื่อถามว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุทางออก คือให้โหวตคว่ำในวาระ 3 จะได้จบเรื่องและเริ่มต้นใหม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เป็นข้อเสนอของนายวิษณุ ซึ่งพปชร.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาและหาข้อสรุปก่อน

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ระบุการปรับครม.จะได้ความชัดเจนในสัปดาห์หน้า จะมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการหรือไม่ว่า ตนไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะสนใจในเรื่องของการทำงานช่วยเหลือประชาชน

ภท.ลั่นต้องมีส.ส.ร.ยกร่างใหม่

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนุญว่า ภท.เคารพและพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งภท.มีเจตนารมณ์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง

“ขบวนการใดที่จะฉุดรั้งการแก้รัฐธรรมนูญให้ยุติลง พรรคขอปฏิเสธทุกแนวทาง และพร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติ หลังการพิจารณาวาระ 3 ก่อนที่จะมีส.ส.ร. วันนี้นายชวนได้บรรจุระเบียบวาระและนัดประชุมแล้ว จึงต้องเดินหน้าต่อไปเป็นอื่นไม่ได้” นายภราดรกล่าว

ชี้บทลงโทษ6ดาวฤกษ์มีผลต่อรบ.

นายภราดรกล่าวถึงบทลงโทษ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ที่โหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สวนทางกับวิปพรรคร่วมรัฐบาลว่า ภท.ยังรอผลการพิจารณาของกก.บห.พปชร.ว่าบทลงโทษ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ จะถูกดำเนินการอย่างไร เราต้องการความชัดเจน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เพราะนั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของมติพรรคร่วมรัฐบาล หากมีคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งทำได้ ต่อไปจะมีกลุ่มอื่นๆ ตามมา พรรคแกนนำจึงควรมีมาตรการทำโทษที่ชัดเจนออกมาเป็นแนวทาง เรายังรอผู้บริหารพปชร. ว่าจะมีมติอย่างไรแล้วแจ้งกลับมา จากนั้นภท.จะมีการแนวทางต่อไป

ส.ว.ย้ำควรรอคำวินิจฉัยกลาง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีเนื้อหาที่ทำให้เกิดการตีความได้หลายทิศทาง ล่าสุด ในคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดว่าด้วยการโอนอำนาจให้กับส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ระบุว่าไม่สามารถทำได้ จึงเชื่อว่าในคำวินิจฉัยกลาง จะมีประเด็นที่เป็นรายละเอียด ดังนั้น รัฐสภาควรเลื่อนลงมติวาระ 3 ไปก่อน รอดูคำวินิจฉัยกลาง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าจะออกมาในไม่ช้านี้ หรือช่วงก่อนที่รัฐสภาจะลงมติวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งการลงมติของรัฐสภา ไม่ได้มีแค่รับหรือไม่รับ แต่คือการทำหน้าที่ที่จะทำผิดไม่ได้ เพราะถือเป็นความเสี่ยง

นายเสรีกล่าวด้วยว่า สำหรับความเห็นส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีเนื้อหาว่าด้วยรัฐสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ โดยตั้งคณะทำงาน กรรมาธิการ (กมธ.) หรือ ส.ส.ร.ได้ แต่ต้องไม่ใช่การโอนอำนาจที่ขาดจากกัน แต่ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านวาระ 2 มติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการแยกขาดอำนาจระหว่าง ส.ส.ร.และรัฐสภา เพราะเมื่อส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ให้เสนอรัฐสภาอภิปรายโดยไม่ลงมติ แสดงว่าอำนาจของรัฐสภาไม่ยึดโยงต่อกัน ดังนั้น การลงมติวาระ 3 ที่ต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับอาจเกิดปัญหาได้

วิปวุฒินัดถกก่อนตัดสินใจ

เมื่อถามว่าทิศทางของวุฒิสภาต่อการลงมติวาระ 3 จะเป็นอย่างไร นายเสรีกล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค. กมธ.กิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา จะหารือต่อเรื่องดังกล่าว แต่ไม่ใช่การกำหนดมติของวุฒิสภา แต่นำคำวินิจฉัยของศาล ข้อมูลที่เกี่ยวข้องหารือและแจ้งเป็นข้อมูลให้ส.ว.ทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ตนมองว่าเมื่อคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ทิศทางของส.ว. อาจเกิดขึ้นได้ 4 ทิศทางคือ 1.ไม่แสดงตน เพื่อร่วมพิจารณา 2.ไม่เห็นชอบ 3.งดออกเสียง และ 4.ให้ความเห็นชอบ

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายประเมินว่า ส.ว.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายเสรีกล่าวว่า หากใช้คำว่าคว่ำ เท่ากับมองว่าส.ว.เป็นผู้ร้าย ทั้งที่ ข้อเท็จจริง ส.ว.ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงมติตามเหตุและผล รวมถึงพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลที่ชัดเจนด้วย ส่วนที่ระบุว่าส.ว.ที่ลงมติรับหลักการวาระแรกแล้ว ควรลงมติเห็นชอบวาระ 3 นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะการทำกฎหมายแบ่งเป็น 3 วาระ คือ วาระแรก รับหลักการ คือการคิด วาระ 2 คือพิจารณา และวาระ 3 คือการตัดสินใจ ที่ต้องมีรายละเอียดเและเหตุผลอื่นๆ ด้วย ซึ่งยอมรับว่าแม้การลงมติจะเป็นอำนาจและดุลพินิจของรัฐสภา แต่ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายด้วย

ยุปชป.ถอนตัวหากโดนเบี้ยว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. กล่าวถึงการลงมติญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า ประธานรัฐสภา วินิจฉัยว่าญัตตินี้เดินต่อไปได้ในวาระ 3 ลงมติได้ ซึ่งตนสนับสนุนและเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้อง ส่วนลงมติแล้วจะตกหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เห็นว่าญัตตินี้เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้น พรรคร่วมรัฐบาลควรตระหนักว่าจะลงมติอย่างไร เห็นได้ชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 3 พรรค คือปชป. พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทย แสดงท่าทีลงมติสนับสนุนในวาระ 3 จึงเหลือเพียง พปชร.ที่ยังไม่ชัดเจน จึงขอเรียกร้องพปชร. โดยเฉพาะแกนนำพรรคหรือประธานวิปรัฐบาล แสดงท่าทีให้ชัดเจน

นายเทพไทกล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค หากมีการเบี้ยวหรือหักหลัง ถือเป็นการหลอกลวงประชาชน ปชป.ต้องทบทวนท่าทีและเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ เสนอไปแล้วและโหวตตก ก็เหมือนกับเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า หากญัตตินี้ไปตกที่ส.ว. ก็เหนือความควบคุมของพรรคร่วมรัฐบาล แต่อย่างน้อยพรรคร่วมที่เสนอไป ต้องตอบคำถามนี้กับประชาชนให้ได้ หากมีการบิดเบี้ยว หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข คิดว่าปชป.ต้องกลับมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง

เด็กปชป.ยังกั๊กทิศทางลงมติ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ปชป. กล่าวว่า ปชป.ยังไม่มีมติใดที่ชัดเจนเพราะต้องรอหารือส.ส.ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 14.00 น. ส่วนที่นายเทพไทระบุหากพปชร. ลงมติไม่เห็นชอบ ปชป.ต้องพิจารณาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลนั้น ถือเป็นคนละเรื่อง เนื่องจากการลงมติใดๆ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญร่วมด้วย แม้ก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ระบุสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลแล้ว จำเป็นที่ต้องนำเนื้อหาพิจารณาก่อนตัดสินใจ

“ในวันที่ 15 มี.ค. วิปรัฐบาลจะหารือถึงเรื่องนี้ แน่นอนว่าปชป.ต้องนำมติวิปรัฐบาล เป็นส่วนประกอบของการประชุมวันที่ 16 มี.ค.นี้ ในส่วนปชป.ขณะนี้ความเห็นของส.ส.แตกต่างกัน จึงต้องหารือร่วมกัน ไม่ใช่ไปตามสิ่งที่นายเทพไท ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคบอกไว้” นายอัครเดชกล่าว

พท.ซัดส.ว.-ส.ส.ใช้ทฤษฎีสมคบคิด

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงท่าทีของส.ว. และส.ส.รัฐบาลบางส่วนต่อการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มี.ค.ว่า ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. คำนึงถึงการเดินหน้าประเทศ การที่ส.ว.และส.ส. บางคนข่มขู่ว่าถ้าโหวตรับร่าง จะประท้วงและยื่นเรื่องตีความว่าขัดคำสั่งศาลนั้น สะท้อนว่ามีการสมคบคิดและพยายามไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นต้นเหตุของปัญหามากมาย แต่กลับเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เมินเฉยความต้องการของประชาชนที่ต้องการหลุดพ้นออกจากกับดักประเทศนี้

โฆษก พท. กล่าวว่า รัฐสภาถือเป็นตัวแทนประชาชน จึงเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เพราะไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ แม้ในญัตติจะพิจารณาแต่งตั้งส.ส.ร. แต่ไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 หมวด 2 มาตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ ข้อกล่าวอ้างโดยการตีความในการพิจารณาวาระ 3 ไม่สามารถทำได้ ขัดกับกระบวนการของรัฐสภา ส่วนการลงประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ทำได้ หลังผ่านวาระ 3 และด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรมของรัฐธรรมนูญ ถ้าส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยังเดินเกมนิ่งเฉยต่ออำนาจประชาชน พท.จะทำให้เห็นว่าอำนาจที่แท้จริงของประชาชนเป็นอย่างไร ด้วยการร่วมสร้างกระบวนการรับรู้และตื่นรู้ในภาคประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น

ปริญญาย้ำต้องลุยโหวตวาระ 3

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อที่ประชุมรัฐสภา ต้องโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3 จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น ส่วนที่มีส.ส.และส.ว.บางส่วนตีความว่าการแก้ไขมาตรา 256 ในวาระ 1 และ 2 ถือเป็นโมฆะนั้น เข้าใจว่าเป็นความตั้งใจตีความให้ไปต่อไม่ได้ เพราะจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ต้องมีการตั้งส.ส.ร.ก่อน จึงจะไปถามประชาชนว่าอยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่

“หากเราเคารพในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจริง ต้องมีวาระ 3 และหากรัฐสภาต้องการให้ประชาชน แสดงความประสงค์ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาต้องผ่านวาระ 3 ถึงจะมีการทำประชามติ หากประชาชนไม่เอา ก็ใช้ฉบับ 2560 ต่อไป แต่หากประชาชนเห็นชอบด้วย จึงจะเกิดส.ส.ร. เราจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ ก็ให้ใช้ 1 คน 1 เสียงจบที่ประชามติ ถ้าประชาชนไม่เอา ก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป เรื่องง่ายๆ แค่นี้” นายปริญญากล่าว

ลั่นควรจบที่ 1 คน 1 เสียง

นายปริญญากล่าวอีกว่า หากจะทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เราจะใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหนมาดำเนินการ เพราะหากใช้มาตรา 116 จะกลายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา และอาจเกิดการติดขัดขึ้น แต่ในมาตรา 256 ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ทำประชามติก่อน ดังนั้น การจะทำประชามติก่อน จึงต้องแก้ไขมาตรา 256 เพราะตนมองหาไม่เจอว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจตามมาตราใด

เมื่อถามว่าตอนนี้เริ่มมีกระบวนล้มวาระ 3 นายปริญญากล่าวว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องความยอมรับของประชาชน ต่อให้ผ่านประชามติมาก็เป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเห็นว่าควรจบด้วย 1 คน 1 เสียง เมื่อผลออกมาแล้วจะแก้ข้อครหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ และจะได้รู้กันเลยว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาจริงหรือไม่ แต่หากไม่มีวาระ 3 ตนมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เพราะเท่ากับรัฐสภาด้อยค่าตัวเอง ในการพิจารณา 2 วาระที่ผ่านมา จึงมองว่าต้องมีวาระ 3 ส่วนจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีต่อประชาชน

จตุพรเชื่อรธน.ถูกตีตกวาระ 3

ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีเสวนาสภาที่ 3 หัวข้อ “ทางออกประเทศไทย หยุดวิกฤตซ้อนวิกฤต” โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการของรัฐสภาในการโหวตวาระ 3 จะยังเดินหน้า เพื่อให้เกิดการคว่ำร่าง และสร้างความชอบธรรม มั่นใจว่าร่างแก้ไขมาตรา 256 จะถูกคว่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ เสียงส.ว.จะไม่ถึง 1 ใน 3 อย่างแน่นอน ซึ่งคนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ อย่ามาอ้างว่า ส.ว.มีอิสระ เพราะคนเหล่านั้นโหวตตั้งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ดังนั้น กรณีนี้พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาพูดเอง โดยขอแรงนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 แต่ถ้าปล่อยลอยๆ เชื่อว่าส.ว.โหวตคว่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ ตนจึงเห็นว่าการแก้ไขเป็นแค่ละครฉากหนึ่งที่หลอกกันไปมา

“พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นบทลอยตัว สร้างความขัดแย้งให้ประชาชน ไม่สร้างความ ปรองดองใดๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องลวงโลกของรัฐบาลและวุฒิสภา เพราะเป็นกลไกเดียวที่จะต่ออายุของเขา ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าปชป.ยังแหก ครั้งหน้าอาจเหลือไม่ถึงครึ่ง วันนี้ถ้าปชป.ยังไม่รู้สึกรู้สา ก็เป็นปัญหาของพรรค กทม.จะสูญพันธุ์ ภาคใต้ก็ทยอยสูญพันธุ์ วันนี้ประชาชนต้องสามัคคี เอาพล.อ.ประยุทธ์ออกไป เราจะได้ทั้งรัฐธรรมนูญ และการแก้ปัญหาความยากจน” นายจตุพรกล่าว

อดีตพธม.ซัด 3ป.ขวางแก้ไข

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า รัฐบาลทหารชุดนี้ต้องการอยู่ยาวให้มากที่สุด กลุ่ม 3 ป. ไม่ต้องการให้เขียนใหม่ แต่ ตกกระไดพลอยโจนจากการเคลื่อนไหวของมวลชน ทำให้ต้องเอาวาระการแก้ไขเข้าสภา และพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าต้องการแก้ไข ทั้งที่ไม่ต้องการแก้ พอจะลงมติวาระ 3 ก็มีคนออกมาขวาง รัฐบาลใช้ส.ว.ออกมาชี้นำ รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ชี้นำว่าส.ว.ควรโหวตวาระ 3 อย่างไร กระบวนการชี้นำทั้งหมดเพื่อให้ การแก้ไขไปต่อไม่ได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจน

“ผมเชื่อว่ากระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ตกไป อาจจะขยับช้า และหากแก้ไขทันในรัฐบาลชุดนี้ กลุ่ม 3 ป. จะถกเถียงกันว่าใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไป เชื่อว่าถึงตอนนั้น 3 ป. จะขัดแย้งกัน” นายพิภพกล่าว

พปชร.วุ่น-บี้‘ป้อม’เกลี่ยรมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการปรับครม. โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้า พปชร. ส่ง 2 รายชื่อคือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ มารับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลงนั้น ปรากฏว่า มีส.ส.บางกลุ่มเตรียมเสนอในการประชุม พปชร.วันที่ 16 มี.ค.นี้ ให้ พล.อ.ประวิตร ทบทวนการเสนอชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าหากไม่มีตัวแทนจากกทม.และภาคอื่น อาจเสียโอกาสทำพื้นที่ แม้ 2 รายชื่อที่พล.อ.ประวิตร เสนอนายกฯแล้วนั้นจะมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ แต่ส.ส.อยากให้ผู้ใหญ่คำนึงถึงการทำพื้นที่ร่วมด้วย เพราะควรมีรัฐมนตรี มาดูแลรับผิดชอบ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.ที่จะเลือกในเร็วๆ นี้ รวมถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นด้วย และเห็นว่านายกฯควรพิจารณาปรับรัฐมนตรี ที่ไม่มีผลงานอีกหลายคนไปพร้อมกันด้วย

กลุ่มกทม.โต้-ยันไม่เคยเรียกร้อง

นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. ในฐานะประธานภาค ส.ส.กทม. พปชร. กล่าวถึงข่าวกลุ่มส.ส.กทม. เรียกร้องให้ตั้งรัฐมนตรีที่มาจากตัวแทนกลุ่มส.ส.กทม.ว่า รู้สึกไม่สบายใจ เพราะไม่เป็นความจริง ทางกลุ่มเห็นด้วยที่จะให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้คัดเลือกและส่งรายชื่อรัฐมนตรี ให้นายกฯพิจารณา ไม่ต้องคำนึงถึงโควตากลุ่มกทม.หรือกลุ่มจังหวัดใด เพราะเชื่อมั่นในหัวหน้าพรรค และส.ส.ทุกคนมีความรักสามัคคี ไม่แบ่งแยกเป็นกลุ่มภาค หรือกลุ่มจังหวัด ทุกคนพร้อมทำงานร่วมกับรัฐมนตรีทุกคน

ด้านนายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. พปชร.กล่าวว่า ส.ส. กทม.ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการปรับครม.ในครั้งนี้ และไม่ได้เรียกร้องให้แต่งตั้งรัฐมนตรีในโควตากทม. เพราะทุกคนเชื่อมั่นในพรรคและพร้อมทำงานรับใช้ชาวกรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีในโควตาของกทม.

รัฐจ่อจ้างงาน4.4หมื่นผู้พิการ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการว่า ในปี 2564 กระทรวงแรงงานได้กำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งเป้าให้คนพิการจำนวน 4.4 หมื่นรายเข้าถึงการจ้างงาน และในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่มีวิสาหกิจเพื่อสังคมมาจดทะเบียน 148 แห่ง มีองค์กรสมาคมของคนพิการ มาจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ 5 แห่ง อาทิ บริษัทออทิสติกไทย ที่นําผลกําไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการหรือเพื่อใช้ประโยชน์ของสังคม บริษัทเด็กพิเศษ จ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส มีการถือครองหุ้นโดยกลุ่มคนด้อยโอกาสและคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด

น.ส.รัชดากล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรที่สนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาสินค้าและการจัดการ และการส่งเสริมการตลาด จากองค์กรพันธมิตรของ สวส. มี 17 แห่ง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ขับเคลื่อนการดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เกิดความยั่งยืน

น.ส.รัชดากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ ผลักดันการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม และเน้นย้ำให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน และได้ใช้ศักยภาพตนเองมีรายได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐบาลนี้จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ให้ความสนใจการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นมาก นำไปสู่การจ้างงานผู้สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงาน สวส. www.osep.or.th หรือโทร 0-2659-6473

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน