‘ตู่’นัดหารือกกร.
ถกกระจายวัคซีน
สุพัฒนพงษ์แย้ม
คนละครึ่งเฟส3
ยันไม่ต้องกู้เพิ่ม

รัฐบาลยันมีงบเพียงพอเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทุ่มงบ 3.8 แสนล้าน บิ๊กตู่นัดประชุมกกร. 28 เม.ย. หารือกระจายวัคซีนภาคเอกชน จุรินทร์ยันภูเก็ตเตรียมเปิดเกาะ 1 ก.ค. แน่นอน ยังไม่มีการเลื่อน เร่งฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนภายในมิ.ย.นี้ ด้านสุพัฒนพงษ์เผยโครงการต่างๆ จะออกมาได้ในเดือนพ.ค. เริ่มใช้มิ.ย. มุ่งเน้นคนใช้เงินเก็บ เผยอาจมีคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ยันไม่ต้องกู้เพิ่ม ยังมีเงินพอ แต่หากระบาดครั้งต่อไปคงต้องกู้เพิ่มอีกแน่

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตร สรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เร่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเร็ว พร้อมเร่งกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยวันที่ 28 เม.ย. นายกรัฐมนตรีเชิญภาคเอกชน อาทิ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชน ภายหลังภาคเอกชนแสดงความประสงค์ในการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาครัฐ เพื่อกระจายสู่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือถึงการรับมือผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อนำมาพิจารณาในการแก้ไขสถานการณ์ โดยผลการหารือกับภาคเอกชนครั้งนี้ จะมีส่วนในการนำไปกำหนดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ต่อไป หลังจากสถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การจะออกมาตรการใดนั้น จะต้องมีการพิจารณารอบด้าน ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งสาระสำคัญในการประชุมร่วมกันครั้งนี้ คือการนำข้อมูล ข้อเสนอแนะไปพิจารณาเป็นแนวทางรับมือผลกระทบ การเยียวยาประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การดูแลรักษาพยาบาล และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณกว่า 3.8 แสนล้านบาท สำหรับการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะมีทั้งโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นการบริโภค รวมถึงการลงทุน อันก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในทุกพื้นที่ ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ และจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะรอง นายกฯที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในระลอกใหม่ ต่อกำหนดการเปิดจ.ภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ว่า ก่อนหน้านี้ ตนประชุมแนวทางการเตรียมเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูจังหวัดร่วมกับจังหวัดและภาคเอกชนในจ.ภูเก็ต ซึ่งมีความเห็นร่วมกัน 5 แนวทาง อาทิ การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 ก.ค.นี้, การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร 3 กลุ่มในจ.ภูเก็ต ให้ครบถ้วนภายในเดือนมิ.ย.นี้ คือประชาชนผู้ที่มาทำงานในภูเก็ต และแรงงานต่างด้าว, การเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างเข้มข้น และการจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพใน จ.ภูเก็ต เป็นต้น

“แม้การระบาดรอบใหม่ส่งผลต่อการ ท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต แต่รัฐบาลพยายามหาช่องทางในการปรับเปลี่ยนแนวทาง และเปิดโอกาสการท่องเที่ยว 2 ทางคือการให้คนไทยท่องเที่ยวในไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ผมยังมั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมานับหนึ่งได้ เมื่อมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และเป็นไปตามเป้า ขณะที่มาตรการการป้องกันได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย เมื่อสัญญาณผู้ติดเชื้อลดลง การท่องเที่ยวก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้” นายจุรินทร์กล่าว

เมื่อถามว่าแผนการเปิด จ.ภูเก็ต เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง และขณะนี้ภูเก็ตอยู่ระหว่างการเร่งฉีดวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด โดยจ.ภูเก็ตสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้ตามเป้า จำนวน 100,000 โดส ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก








Advertisement

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ระบุว่าการระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้ คาดว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลา 2 สัปดาห์ รัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน หากสถานการณ์สามารถควบคุมได้เร็ว และคลี่คลายในระยะเวลา 1 เดือน

“มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังไม่มากนัก รัฐบาลเร่งหามาตรการต่างๆ มาเพิ่มเติมในการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนของมาตรการเยียวยา กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการที่เหมาะสม”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่าคาดว่ามาตรการต่างๆ จะออกมาเป็นแพ็กเกจได้ในเดือนพ.ค. และจะมีผลเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ มีทั้งที่เป็นมาตรการใหม่ที่จะกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะมาตรการให้คนเอาเงินออมออกมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังคิดมาตรการออกมาแล้วจะเริ่มใช้ในเดือนมิ.ย. มาตรการที่จะทำต่อเนื่องคือ ‘คนละครึ่ง’ ระยะที่ 3 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเดินหน้าต่อตามที่ได้บอกไว้ ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมาเช่นการดูแลข้าราชการผู้มีรายได้น้อย มาตรการต่ออายุการเยียวยาก็ต้องมีบ้าง เช่น เราชนะ หรือ ม.33 เรารักกัน ซึ่งหารือกันว่าสำหรับ ผู้ที่มีสิทธิ์ก็อาจจะต่ออายุออกไปโดยที่ประชาชนไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน ส่วนจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ และจะให้มากแค่ไหนเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังไปดูในรายละเอียด แต่การออกมาตรการออกมาพร้อมๆ กันทำให้คนที่จะได้มาตรการมีหลายกลุ่มจะได้ช่วยกันใช้จ่ายให้เงินหมุนเวียน

“มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาทยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยาและทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังพอที่จะทำได้และเหลือเงินอยู่ แต่หากเกิดการระบาดครั้งต่อๆ ไป ตรงนั้นรัฐบาลต้องเตรียมที่จะกู้เงินแล้ว เพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเงินไว้ดูแลประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน